เกษตรกรสูงวัยไทยกับการใช้เทคโนโลยีสื่อสารในการเพิ่มผลผลิต

ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ กลุ่มผู้สูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้นนี้ยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันสังคมและเศรษฐกิจ เพราะการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าทำให้สุขภาพของผู้สูงวัยแข็งแรง ยังมีกำลังที่จะประกอบอาชีพในหลาย ๆ ภาคส่วน รวมถึงภาคการเกษตรของไทยซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีขนาดใหญ่ด้วย จากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้สูงอายุที่ทำงานส่วนใหญ่ของไทย เป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านเกษตรและประมง ร้อยละ 60.8 รองลงมาเป็นพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า ผู้สูงอายุที่มีฝีมือด้านเกษตรและประมงนั้น มีจำนวนสูงสุดเกือบทุกภาค โดยมีจำนวนมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 78.6 รองลงมาเป็นภาคใต้และภาคเหนือ1

งานวิจัยของไทยชิ้นหนึ่งระบุว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์จะส่งผลลบต่อศักยภาพการผลิตของภาคเกษตรไทย กล่าวคือ หากสัดส่วนแรงงานที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้นในระบบการผลิต (เมื่อเทียบกับแรงงานในวัยทำงาน) ประสิทธิภาพทางการผลิตจะลดน้อยลงเป็นอย่างมาก2 นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่เป็นตัวอย่างของปัญหาการทำเกษตรในกลุ่มผู้สูงวัย แม้รัฐบาลจะมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แล้วก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวจัดทำขึ้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และขาดทักษะการใช้เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร สินค้าและผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพ เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดกำลังทรัพย์ในการทำการเกษตรอินทรีย์ หน่วยงานที่เข้าไปส่งเสริมขาดการติดตามอย่างต่อเนื่อง3

กระนั้นก็ดี หลายประเทศต่างพบปัญหาสังคมสูงวัยในภาคการเกษตรเช่นเดียวกับไทย แต่ประเทศเหล่านั้นก็ได้พัฒนาหนทางในการใช้เทคโนโลยีสื่อสารเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสูงวัยได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรสูงวัยที่น่าสนใจ ได้แก่ การออกแบบเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นซึ่งตอบสนองต่อสังคมเกษตรกรรมสูงวัยได้อย่างชาญฉลาด โดยมีการคิดค้นระบบข้อมูลซี่งอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นตัวช่วย ซึ่งเรียกว่า “ระบบข้อมูล 4 ส่วน” นักวิจัยและพัฒนาได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับการผลิตและจำหน่ายใบไม้กับดอกไม้ตกแต่งอาหาร (tsumamono) ของบริษัทอิโรโดริ ในเมืองคามิคาซึ4 ระบบสารสนเทศของบริษัทอิโรโดริ 4 ส่วน ได้แก่
(1) รวบรวมและส่งข้อมูลสินค้าตามเวลาจริงจากตลาดค้าส่งผ่านเทคโนโลยีสื่อสาร
(2) คาดการณ์ปริมาณความต้องการโดยการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดในอดีตโดยระบบคอมพิวเตอร์
(3) ส่งข้อมูลคำสั่งซื้อ แนวโน้มตลาด และการคาดการณ์ความต้องการไปยังเกษตรกรทั้งหมดพร้อมกันแบบเรียลไทม์
(4) เผยแพร่ข้อมูลสู่ตลาด เชื่อมต่อ และร่วมมือกันทางออนไลน์

นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนาระบบอินเตอร์เฟซ (การเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ซึ่งถ่ายโอนข้อมูลซึ่งกันและกัน) และระบบบาร์โค้ดที่ช่วยให้ตรวจสอบผู้ผลิตกับชื่อผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

ธุรกิจใบไม้กับดอกไม้ตกแต่งอาหารของบริษัทอิโรโดริเป็นตัวอย่างขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ ในการผสานวิถีชีวิตของผู้สูงอายุกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางการเกษตรในพื้นที่ชนบทได้เป็นอย่างดี ในกระบวนการพัฒนาธุรกิจ อิโรโดริได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเหลือหลายประเด็น ประเด็นแรก เป็นการย่นระยะห่างระหว่างภูมิภาค โดยพ่วงต่อกับตลาดผู้บริโภคในเขตเมืองด้วยระบบออนไลน์ เช่น การสร้างระบบสองทิศทาง ซึ่งบริษัทรวบรวมข้อมูลจากตลาดต่าง ๆ ทั่วประเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต และส่งข้อมูลการจัดส่งจากพื้นที่การผลิตไปยังตลาดด้วยตนเอง ประเด็นที่สอง เป็นการเอาชนะสภาพที่เสียเปรียบของการอยู่ในหมู่บ้านบนภูเขาซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรต่ำ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร ประเด็นที่สาม เป็นการเอาชนะความยากลำบากและความรู้สึกด้านลบของผู้สูงอายุต่อการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและอินเตอร์เน็ต ความสำเร็จของบริษัทไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาระบบอินเตอร์เฟซเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้อย่างสะดวก เช่น ข้อมูลการขายในตลาด และการจัดอันดับการขายของเกษตรกรในเมือง

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย หลายฝ่ายได้พยายามหาทางแก้ปัญหาสังคมสูงวัยในภาคการเกษตรเช่นกัน โดยหาทางในการทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร ยกตัวอย่างข้อเสนอแนะของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์5 ซึ่งได้พยายามออกแบบกลไกการยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตในภาวะที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ด้วยการเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ซึ่งต้องคำนึงถึงความแตกต่างกันในเชิงพื้นที่ โครงสร้างครัวเรือน และกิจกรรมทางการเกษตร

ครัวเรือนที่มีแรงงานสูงวัยส่วนใหญ่มักเป็นครัวเรือนหลายรุ่น แต่นับเป็นข้อดีเพราะจะเกิดการผสมผสานประสบการณ์และภูมิปัญญาจากแรงงานสูงอายุ เข้ากับความสามารถในการเรียนรู้ การปรับตัว และตัดสินใจยอมรับเทคโนโลยี สถาบันฯ มีข้อเสนอนโยบายทางการเกษตรในภาวะที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ได้แก่ (1) เพิ่มเทคโนโลยีทดแทนแรงงานสูงวัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (2) พยายามดึงดูดให้แรงงานอายุน้อยให้เข้ามาในภาคการเกษตรมากขึ้น โดยมีแรงจูงใจทางการเงิน โครงการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับแรงงานอายุน้อย (3) สนับสนุนให้แรงงานสูงวัยออกนอกภาคการเกษตร และ (4) มาตรการช่วยเหลือและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครัวเรือนเกษตรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย

แน่นอนว่า โลกออนไลน์ได้กลายเป็นช่องทางในการสร้างรายได้และเรียนรู้สำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรสูงวัย โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรเผยว่า กิจกรรมในโลกออนไลน์และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ตามมาจากโลกออนไลน์สามารถช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตของเกษตรกรสูงวัยให้ดีขึ้นได้ เพราะมีประโยชน์ต่าง ๆ ได้แก่
(1)  ส่งเสริมความรู้ใหม่ เกษตรกรสูงวัยจึงควรศึกษาและพยายามสร้างพื้นฐานในการนำเอาความรู้เหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตนเอง
(2)  ช่วยสร้างความเข้าใจในประเด็นที่ไม่รู้ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจทางการเกษตร โดยเฉพาะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ หลายคนอาจเปลี่ยนมาใช้แนวทางใหม่ซึ่งค้นหาได้จากโลกออนไลน์ จนทำให้เกิดการผลิตที่สูงตามที่คาดหวัง
(3)  สร้างรายได้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะผลิตผลการเกษตรสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยอาจเกิดจากการสร้างกระแสในโลกออนไลน์ ช่วยให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ เช่น การสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจในพื้นที่การเกษตร การขายตรงจากตัวของผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค ตลอดจนการแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เกษตรให้คนภายนอกได้รับรูปผ่านสื่อออนไลน์6

นอกจากนั้น ความตื่นตัวในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อภาคการเกษตรมีมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกรายงานหนึ่งของสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์7 ระบุว่า แอปพลิเคชันเพื่อการเกษตรมีจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ให้บริการไม่ครบวงจร และยังมีผู้ใช้งานน้อย ส่วนใหญ่เน้นการให้บริการเฉพาะด้านการส่งเสริมการทำเกษตรกรรม การให้ความรู้ และการให้ข้อมูลข่าวสาร ไม่มีแอปพลิเคชันใดที่ให้บริการครบวงจร แม้จะมีน้อย แต่การใช้แอปพลิเคชันเพื่อการเกษตรก็ยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกรสูงวัยได้เป็นอย่างดีในหลายด้าน

ในด้านการผลิต สามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการเกษตร การพยากรณ์ผลผลิตด้วยแบบจำลอง การทำเกษตรอัจฉริยะ การคาดการณ์สภาพภูมิอาการที่แม่นยำสูง ตลอดจนตรวจสอบสภาพดิน หรือแม้แต่การแบ่งปันใช้ทรัพยากรร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีเครื่องจักรกลก็อาจขอเช่าจากเพื่อนเกษตรกร ในด้านการตลาด คือการสร้างแพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์ การเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลตลาดแบบระดมข้อมูล (crowdsourcing) ตลอดจนการเก็บข้อมูลเพื่อขอมาตรฐานสินค้า ทั้งหมดนี้จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดและขายผลผลิตได้ราคาดีขึ้น ในด้านการเงิน เทคโนโลยีสามารถนำมาช่วยให้เกษตรกรสูงวัยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย เช่น การระดมทุนออนไลน์ ซึ่งเป็นการระดมทุนจากคนจำนวนมากผ่านเครือข่ายออนไลน์ หรือการกู้ยืมโดยตรงระหว่างเกษตรกร เป็นต้น

สถาบันฯ ยังชี้ว่า เกษตรกรไทย โดยเฉพาะผู้สูงวัย ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสารที่สำคัญ คือ (1) การตระหนักรู้ถึงเทคโนโลยีการเกษตร (2) ความเข้าใจถึงปัญหาพฤติกรรมแบบซ้ำเดิมของตนเองซึ่งมักยึดติดกับวิถีเกษตรแบบเดิม ๆ (3) การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของภาคเกษตรไทย จนหลายภาคส่วนตั้งรับไม่ทัน

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น สถาบันฯ จึงแนะนำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับเกษตรกร โดยรัฐควรมีแนวนโยบาย คือ (1) ส่งเสริมการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก (2) ส่งเสริมการเข้าถึงฐานลูกค้าเกษตรกรรายย่อย และสร้างเครือข่ายกับกลุ่มเกษตรกร (3) ส่งเสริมให้เกิดการแข่งกันระหว่างกัน เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพเสมอ

นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอแนะในเรื่องนวัตกรรมการเกษตรกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมองว่า กลุ่มเกษตรกรสูงอายุยังมีข้อจำกัดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องจากยังไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อในการทำเกษตรแบบดั้งเดิม และยังขาดเงินทุนในการลงทุนเครื่องจักรและการนำเทคโนโลยีมาใช้8 หากร่วมกันพัฒนาภาคเกษตรไทยและสนับสนุนเกษตรกรให้หันมาใช้เทคโนโลยีกับนวัตกรรมแบบเศรษฐกิจดิจิทัล ก็จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ฐานรากของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ โดยการใช้หลักการดังนี้
(1) “ต่อ” ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิม ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง ทำให้ชุมชนเกิดความโปร่งใส
(2) “เติม” ความรู้จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จากหน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษา เชื่อมโยงจากภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติจริง
(3) “แต่ง” ทัศนคติและค่านิยม หรือการเปลี่ยนมุมมองว่า เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีคุณค่าด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีอิสระในการกำหนดแนวทางเกษตรทางเลือกของตนเองได้

ผู้สูงวัยที่เป็นเกษตรกรนั้น อาจปรับตัวและปรับใจโดยอาศัยข้อแนะนำทั้งหลายข้างต้น รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ผู้กำหนดนโยบาย หรือเอกชนที่ลงทุนด้านการเกษตร ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาระบบการผลิต การขนส่ง และการจำหน่วย จะช่วยให้เกษตรกรสูงวัยไม่ตกยุคและประสบความสำเร็จดังในกรณีของญี่ปุ่น ในท้ายสุด หากเราดำเนินการตามข้อเสนอของสถาบันวิจัยไทยต่าง ๆ ข้างต้นได้ การพัฒนาผลผลิตการเกษตรจะช่วยให้เข้าถึงตลาดของคนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่ตลาดที่อยู่ห่างไกลได้ อันจะทำให้เกษตรกรสูงวัยไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสุขกับการทำงานที่ตนเองรักต่อไป

โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

รายการอ้างอิง

  1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2564). สรุปผลที่สำคัญการทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564. http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านสังคม/สาขาแรงงาน/Labor_of_the_elderly/2564/pocketbook_64.pdf
  2. โชคชัยชาญ วิโรจน์สัตตบุษย์, วลีรัตน์ สุพรรณชาติ และสุวรรณา ประณีตวตกุล. (2562). ผลกระทบของสังคมสูงวัยต่อผลิตภาพแรงงานในภาคการเกษตรไทย. แก่นเกษตร, 47(3), 419-432.
  3. นวลพิศ มีเดชา, พุฒิสรรค์ เครือคำ, พหล ศักดิ์คะทัศน์ และกังสดาล กนกหงส์. (2562). การรับรู้ต่อการพัฒนาการเกษตรภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของเกษตรกรในตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร, 37(3), 60-70.
  4. Hashimoto, K. (2012). Agri-business for elderly people through the Internet. The example of the Irodori leaf business. Netcom. Networks and Communication Studies, 26(3/4), 235-250. https://doi.org/10.4000/netcom.1012
  5. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์. (2562). สถานการณ์สูงวัยกับผลิตภาพและการทำเกษตรของครัวเรือนเกษตรไทยมีนัยต่อการพัฒนาภาคเกษตรอย่างไร? https://www.pier.or.th/abridged/2019/13/
  6. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร. (ม.ป.ป.). เกษตรกรต้องเข้าใจและนำนวัตกรรมไปใช้อย่างเหมาะสม. https://www.arda.or.th/knowledge_detail.php?id=47
  7. สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์. (2562). Digital technology กับการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย. https://www.pier.or.th/abridged/2019/19/
  8. เสาวณี จันทะพงษ์ และพรชนก เทพขาม. (2561). นวัตกรรมการเกษตร: ทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ตอน 2. https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_24Apr2018.pdf
Scroll to Top