“ห้องแห่งเสียงสะท้อน” ปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ที่แก้ไขได้ด้วย “ความเข้าใจ”

ท่านเคยดูหน้าบัญชีเฟซบุ๊กของเพื่อนหรือไม่ หากเคย…จะพบว่าเรื่องราวที่ปรากฏในหน้าฟีดเฟซบุ๊กของเพื่อนนั้น แตกต่างจากหน้าฟีดเฟซบุ๊กของท่าน ซึ่งหน้าฟีดเฟซบุ๊กได้สะท้อนความเป็นตัวตนของเจ้าของบัญชีว่ามีไลฟ์สไตล์แบบไหน มีงานอดิเรกอะไร ติดตามดาราหรือสนับสนุนพรรคการเมืองใด

แล้วท่านเคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาคุณค้นหาสินค้าสักอย่างหนึ่งในสื่อออนไลน์ เช่น เครื่องฟอกอากาศ เมื่อคุณเข้าแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จะปรากฏโฆษณา “เครื่องฟอกอากาศ” เป็นจำนวนมาก บรรดาร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์และสื่อสังคมจะยกขบวน “เครื่องฟอกอากาศ” มากมายหลายยี่ห้อมานำเสนอในทุกช่องทาง โดยที่ท่านไม่ต้องค้นหาเอง

หรือเมื่อคุณดูวิธีทำอาหารสักอย่างหนึ่งบนยูทูปจบลง สิ่งที่ยูทูปแนะนำคุณให้เข้าไปชมอีกจะมีแต่วิธีทำอาหารที่น่ารับประทาน ดูเป็นของชอบของท่านไปทุกอย่าง ทำให้ท่านต้องใช้เวลารับชมผ่านแพลตฟอร์มนี้นานกว่าที่ตั้งใจไว้

Echo Chamber: ปรากฏการณ์ห้องแห่งเสียงสะท้อนบนโลกออนไลน์

ปรากฏการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากผลของ Echo Chamber หรือ นักวิชาการไทยแปลว่า “ห้องแห่งเสียงสะท้อน” เป็นการอธิบายถึงสถานการณ์ที่คนได้ยินหรือรับรู้แต่ความคิดเห็นแบบเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่เมื่อเราได้คลุกคลีกับคนที่คิดเหมือน ๆ กับเรา ชอบแบบเดียวกับเรา อยู่ในกลุ่มของคนที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน ทำให้เราได้รับรู้และซึมซับความคิดเห็นหรือความจริงเพียงด้านเดียว แต่ในปัจจุบัน Echo Chamber ถูกนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสื่อออนไลน์

เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต่างก็อาศัยอยู่ในโลกใบที่สองนี้เรียบร้อยแล้ว หรือบางคนอาจจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์มากกว่าในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยซ้ำไป การอธิบายห้องแห่งเสียงสะท้อนเป็นการเปรียบเทียบโดยใช้หลักการของเสียงสะท้อน เมื่ออยู่ในห้องแคบ “เราตะโกนอะไร เราก็จะได้ยินเสียงนั้นกลับมา ยิ่งตะโกนดังมากแค่ไหน เรายิ่งได้ยินเสียงนั้นดังมากเท่านั้น”

การกลั่นกรองเนื้อหาโดยผู้ใช้สื่อและเทคโนโลยี

สถานการณ์ที่คนจะได้ยินเพียงความคิด ข้อมูล และความเชื่อแบบเดียวกัน หรือทิศทางเดียวกันในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ในการสร้างห้องแห่งเสียงสะท้อน หรือนักวิชาการบางท่านได้เปรียบเทียบว่าเป็นการสร้างฟองสบู่ขนาดใหญ่ห่อหุ้มเราไว้กับข้อมูลข่าวสารที่ตอกย้ำความคิดความเชื่อที่มีอยู่เดิมมากกว่าข้อมูลที่แตกต่างหรือขัดแย้ง โดยสภาวะเช่นนี้เรียกว่า Filter Bubble หรือ “ตัวกรองฟองสบู่”

ห้องแห่งเสียงสะท้อนหรือตัวกรองฟองสบู่เป็นวิธีการอุปมาอุปไมยเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดจากทั้งการกระทำของผู้ใช้สื่อเอง ไม่ว่าจะเป็นการเป็นเพื่อน (friend) การติดตาม (follow) การแสดงความคิดเห็น (comment) การส่งต่อ (share) การกดไลท์ (like) พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการกลั่นกรองเนื้อหาโดยผู้ใช้ รวมทั้งยังมีระบบเทคโนโลยี “อัลกอริทึม” ในการจัดการกลั่นกรองและคัดเลือกเนื้อหาให้แก่ผู้ใช้แต่ละคน โดยจัดแจงข้อมูลที่นำเสนอให้ถูกจริตกับผู้ใช้ ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล แบบแผนการใช้สื่อ พฤติกรรมการใช้ และการเชื่อมโยงกับผู้อื่นในเครือข่าย เช่น เป็นเพื่อนกับใคร กดไลท์ให้กับเนื้อหาแบบใด เป็นต้น ดังนั้น ตัวผู้ใช้สื่อสังคมและระบบทางเทคโนโลยีจึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ตัวเราเองตกอยู่ในวงล้อมของคนที่คิดเหมือน ๆ กัน เป็นการตอกย้ำความคิดที่มีร่วมกับคนในกลุ่มเดียวกัน

เหรียญสองด้านของปรากฏการณ์ห้องแห่งเสียงสะท้อน

สิ่งที่เกิดขึ้นจากสภาวะห้องแห่งเสียงสะท้อนที่เทคโนโลยีช่วยในการคัดสรรข้อมูลข่าวสารให้ตรงใจกับผู้ใช้แต่ละคน อาจเป็นข้อดีที่ทำให้เราได้รู้ได้เห็นสิ่งที่ถูกจริต เป็นสิ่งที่เราต้องการรับรู้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักทางจิตวิทยาที่คนเราจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้แชร์ความคิดเห็นและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่มีความคิดเหมือน ๆ กับตน ในทางตรงกันข้ามบุคคลจะรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจเมื่อได้รับรู้รับฟังสิ่งใหม่ ๆ ที่ขัดกับสิ่งที่ตนเองเชื่อหรือรับรู้มาก่อนหน้า จนต้องพยายามปรับสิ่งที่ได้รับรู้ใหม่นี้ให้สอดคล้องกับความคิดความเชื่อเดิมของตน ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยอคติจากการยืนยันสิ่งที่ตัวเองเชื่อ (Confirmation bias) ที่บุคคลพยายามแสวงหาข้อมูลข่าวสารหรือหลักฐานต่าง ๆ เพื่อมาสนับสนุนความคิดความเชื่อเดิมของตน แต่อย่างไรก็ตาม เหรียญมีสองด้านเสมอ ปรากฏการณ์ของการได้รับข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับความคิดเดิมของตนนั้นย่อมมีผลเสียด้วยเช่นกัน

จากการศึกษากลไกและคุณลักษณะของห้องแห่งเสียงสะท้อนในสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย พบว่า ผลจากห้องแห่งเสียงสะท้อนทำให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่พร้อมจะเผยแพร่ข้อมูลที่ตรงกับความคิดความเชื่อเดิมของตนโดยไม่ได้ตรวจสอบหรือเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งอื่น หรือชุดข้อมูลอื่นที่มีเนื้อหาแตกต่างจากกลุ่มของตน

โดยพบว่าการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น มีจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นวิกฤตระดับโลก เนื่องจากเหตุผลหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นเนื้อหาที่มีความแปลกใหม่จึงทำให้เกิดการหลอกลวงได้ง่าย (2) พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียและระบบเทคโนโลยีอัลกอริทึมเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดห้องแห่งเสียงสะท้อนซึ่งเป็นการตอกย้ำความคิดความเชื่อและเผยแพร่ข้อมูลเท็จในวงกว้าง (3) ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการตรวจสอบ แต่การส่งต่อข้อมูลในสื่อสังคมทำได้โดยง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก ทุกคนที่ใช้สื่อซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีอิทธิพลหรือผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถส่งต่อข้อมูลได้โดยง่าย ทำให้ขาดการตรวจสอบหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริง1

นอกจากปัญหาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดข้อมูลเท็จแล้ว ยังพบว่าผลจากห้องแห่งเสียงสะท้อนมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง โดยคีนกับซอลท์เทอร์2 อธิบายว่า เทคโนโลยีและสื่อสังคมเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองและเกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างชัดเจน กล่าวคือ ทุกวันนี้เราถูกห่อหุ้มด้วยตัวกรองฟองสบู่ให้ติดอยู่กับชุดข้อมูลความเชื่อบางอย่าง รวมทั้งยังมีแนวโน้มที่จะแสวงหาข้อมูลที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อแบบเดิมของตน มีอคติในการเลือกรับและเลือกที่จะเชื่อข้อมูลที่ตรงใจ โดยทางการเมืองมักจะใช้ประโยชน์จากห้องแห่งเสียงสะท้อนนี้ตอกย้ำและยืนยันความคิดความเชื่อของเราให้ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของคนที่มีความคิดเห็นเหมือน ๆ กัน จนกลายเป็นความคิดแบบสุดโต่งของกลุ่มการเมืองแบบแบ่งขั้ว ก่อให้เกิดความแตกต่างจนกลายเป็นความแตกแยกระหว่าง “พวกเรา” และ “พวกเขา”

ในประเทศไทย พิรงรอง รามสูต3 วิจัยเรื่อง ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 พบว่า บริบททางการเมืองในสังคมไทยเกิดจากการสั่งสมมิติเชิงอารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งคนกลุ่มนี้เติบโตมาในโลกแห่งดิจิทัล คุ้นเคยกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ จึงเกิดการบ่มเพาะทางการเมืองทั้งในด้านความรู้สึกและมุมมองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยสื่อสังคมออนไลน์นี้เป็นพื้นที่ในการแสดงออกความคับข้องใจ จนก่อให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองด้วยอารมณ์มากกว่าอุดมการณ์ ส่งเสริมให้เกิดการยืนยันความเชื่อและการเลือกแสดงความคิดเห็นกับผู้ที่คิดเหมือนกันเท่านั้น ซึ่งเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ห้องแห่งเสียงสะท้อนในบริบททางการเมืองของสังคมไทย

ปัญหาของห้องแห่งเสียงสะท้อน คือ เราแต่ละคนอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อนคนละห้องกัน หรือบางทีเหมือนเป็นคนละโลก(ทัศน์)กัน ยิ่งเราวนเวียนอยู่กับความคิดความเชื่อแบบเดิม ๆ ของเรา โดยคนในสังคมที่เราอยู่ยังมีความคิดคล้ายคลึงกับเรา อาจทำให้เราเผลอเชื่อว่าความคิดนั้นเป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในสังคม และเป็นความคิดเห็นที่ถูกต้อง ห้องแห่งเสียงสะท้อนจึงเสมือนเป็นห้องที่แบ่งแยกคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไว้ มุมมองที่แตกต่างจากห้องแห่งเสียงสะท้อนอื่น จึงเป็นเสียงของคนละกลุ่มคนละพวก ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านและการโจมตีความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะในประเด็นที่อ่อนไหว ทั้งการเผยแพร่เนื้อหาทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น ดังนั้น เราจะช่วยกันลดทอนปัญหาห้องแห่งเสียงสะท้อนนี้อย่างไร ก่อนที่จะนำไปสู่ชนวนแห่งความแตกแยกในสังคม

ปัญหาของห้องแห่งเสียงสะท้อน แก้ไขได้ด้วยความเข้าใจ

การแก้ไขปัญหาของห้องแห่งเสียงสะท้อนจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยเริ่มต้นจากตัวเราที่เป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ด้วยหลักแห่งความเข้าใจ 3 ประการ ได้แก่

1.เข้าใจห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber) เมื่อได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ห้องแห่งเสียงสะท้อน เราต่างเข้าใจว่าพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมและระบบทางเทคโนโลยีเป็นตัวการสำคัญในการกลั่นกรองเนื้อหาให้ถูกจริตกับผู้ใช้ ดังนั้นการเปิดโลกทัศน์ให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แม้จะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของเรานั้นเป็นความท้าทาย เราอาจลองเปิดประสบการณ์ด้วยการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ละเลยหรือไม่เคยสนใจ หรืออาจลองเข้าไปอ่านข้อมูลความคิดเห็นของกลุ่มที่แตกต่าง ลองกดไลท์ หรือขอเป็นเพื่อนกับผู้คนที่หลากหลายในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับชุดข้อมูลอื่น ๆ ได้ไหลบ่าเข้ามาหาเราบ้าง นอกจากชุดข้อมูลเดิม ๆ จากเครือข่ายเดิม ๆ

2. เข้าใจการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Literacy) การรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะการเข้าใจสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เข้าใจว่าทุกการกระทำของเราส่งผลกระทบต่อตัวเราเองและสังคมในวงกว้างได้เสมอ เพียงแค่ปลายนิ้วคลิกส่งต่อข้อมูล ข้อมูลนั้นจะถูกส่งต่อกันในเครือข่ายอย่างไม่จบสิ้น แล้วถ้าข้อมูลที่ส่งต่อกันนั้นเป็นข้อมูลเท็จ เป็นความเชื่อที่ผิด บิดเบือนจากความจริง หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ผลกระทบจากการตอกย้ำและหล่อหลอมความคิดความเชื่อนั้นจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่ความขัดแย้งและความเกลียดชังขึ้นในสังคม

เข้าใจผู้ที่เห็นต่าง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) หรือที่สุภาษิตไทยใช้ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เข้าใจถึงความคิด ความรู้สึก หรืออารมณ์ของผู้อื่นโดยไม่เอาตัวเราเองเป็นศูนย์กลาง หรือไม่ยึดติดกับความคิดของเราเพียงฝ่ายเดียว เข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้อื่นทำ เขาต้องมีเหตุผลหรือความคิดความเชื่อในแบบของเขา แม้จะแตกต่างจากความคิดของเรา แต่เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ เคารพในความคิดของผู้อื่นแม้จะแตกต่างจากความคิดของตน

ในฐานะของการเป็น “ผู้สูงอายุ” ซึ่งมีมุมมองที่กว้างขวางด้วยการผ่านประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตจนถึงปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตได้ผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตจนขาดไม่ได้ ผู้สูงอายุจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนทุกภาคส่วนให้ทบทวนพฤติกรรมและบทบาทของตนในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเริ่มจากผู้สูงอายุได้ “เตือนตนเอง” ให้ตั้งมั่นอยู่ในหลักแห่งความเข้าใจ 3 ประการข้างต้น ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีกับผู้ใช้สื่อสังคมอนไลน์คนอื่น ๆ และใช้การ “เตือนผู้อื่น” โดยเริ่มจากลูกหลานให้เข้าใจหลักการของห้องแห่งเสียงสะท้อน ผลกระทบ และการรู้เท่าทันเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในวังวนกับดักแห่งความคิดสุดโต่ง เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สูงอายุและลูกหลานให้ปรับเจตคติและมุมมองให้เข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ผู้สูงอายุยังสามารถ “เตือนสังคม” เมื่อพบข้อมูลที่ไม่ชอบมาพากลให้ตรวจสอบและกลั่นกรองก่อนเชื่อหรือส่งต่อ รวมทั้งอาจหาแนวร่วมจากผู้ใช้คนอื่นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และหากพบข่าวสารที่บิดเบือนหรือมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายหรือโจมตีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นต้น

หลักการแห่งความเข้าใจห้องแห่งเสียงสะท้อน เข้าใจการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ และเข้าใจผู้ที่เห็นต่าง สำหรับการเตือนตนเอง เตือนผู้อื่น และเตือนสังคม อาจดูเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ทุกคนสามารถทำได้ ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมและเปลี่ยนแปลงโลกได้ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ขึ้นอยู่กับปลายนิ้วที่คลิกหรือกดแป้นพิมพ์ในสื่อสังคมออนไลน์ว่าคุณจะเลือกเปลี่ยนโลกให้เกิด “สงครามแห่งข่าวสาร” หรือ “ความสันติสุข”

ผู้เขียน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญาณี พูนพล
สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565

รายการอ้างอิง

  1. ¹Jiang, B., Karami, M., Cheng, L., Black, T., & Liu, H. (2021, 6-9 July). Mechanisms and attributes of echo chambers in social media. https://arxiv.org/pdf/2106.05401.pdf
  2. ²Kuehn, K. M., & Salter, L. A. (2020). Assessing digital threats to democracy, and workable solutions: A review of the recent literature. International Journal of Communication, 14, 2589-2610.
  3. ³พิรงรอง รามสูต. (2563). ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม: กรุงเทพฯ.
Scroll to Top