บทบาทของผู้สูงวัยและชุมชุนในการจัดการขยะ

ในสังคมยุคใหม่ที่เน้นการผลิตและการบริโภค ย่อมก่อให้เกิดสิ่งปฏิกูลและขยะอันเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์อย่างมหาศาล แม้จะมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริโภคไปสู่การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ การรีไซเคิล หรือการหันมาใช้วัสดุที่ยั่งยืน แต่จำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้การส่งเสริมความรู้ในการจัดการขยะหรือของเหลือใช้ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ แม้จะมีคำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์หลายครั้งว่ามนุษย์เรากำลังสร้างความเสียหายให้กับโลกด้วยอัตราที่น่าตกใจ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าทัศนคติ การรับรู้ และพฤติกรรมของคนแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้สูงวัยกับกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงานซึ่งมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น จะตระหนักถึงอันตรายจากการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่

ข้อมูลที่น่าสนใจจาก Recycle Magazine ระบุว่า ในสหราชอาณาจักร ผู้เกษียณอายุยังคงรักษาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของตนไว้ได้ค่อนข้างดี แม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว ทำให้ผู้สูงอายุมีอำนาจใช้จ่ายและมีเวลาเหลือมากกว่าเคย การศึกษาชี้ว่าขยะจากชุมชนของผู้สูงวัยมีมากกว่าชุมชนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในนั้นเป็นผลจากความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย คนในวัยหลังเกษียณจึงเป็นกลุ่มบุคคลที่สร้างขยะมากขึ้นโดยไม่ตั้งใจ อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับกรณีข้างต้น คือ ฮ่องกงซึ่งมีประชากรสูงวัยค่อนข้างมาก แต่ไม่มีการสนับสนุนในด้านความรู้ในการจัดการขยะที่เพียงพอสำหรับผู้สูงวัย ผู้สูงอายุจำนวนมากในฮ่องกงมีฐานะยากจน ไม่มีเงินออมหรือมีเงินบำนาญ และหลายคนต้องอยู่ในสภาพหารายได้จากขยะและการรีไซเคิล เช่น การซื้อขายกระดาษแข็งนอกถนน กระนั้นก็ดี กรณีของฮ่องกงนี้ กลับแสดงให้เห็นว่า แม้ผู้สูงวัยอาจมีรายได้น้อย แต่ก็ตระหนักถึงประโยชน์จากสิ่งของเหลือใช้ ทั้งในแง่อาชีพและสภาพแวดล้อม มากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูงและไม่สนใจเรื่องการจัดกับสิ่งที่เหลือใช้อย่างมีประสิทธิภาพ1

สำหรับในประเทศไทย มีการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับการจัดการขยะในชุมชนโดยการนำของผู้สูงวัย ส่วนมากเป็นการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติหรือการศึกษาสภาพปัจจุบัน ตลอดจนการรับมือหรือมาตรการท้องถิ่นในการทำให้ชุมชนสะอาด เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ในระดับชุมชนของผู้สูงวัยในสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของวิสาขา ภู่จินดา และภารณ วงศ์จันทร์2 ซึ่งเจาะประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อมในองค์กรบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง พบว่า ประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลัก คือ ปัญหาขยะมูลฝอยอันเกิดจากผู้ที่เข้ามาใช้บริการในหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชน เกิดจากชุมชน เช่น บริเวณถนนและทางเดิน ส่งผลทำให้เกิดปัญหาขยะตกค้างและทัศนะวิสัยที่ไม่น่ามอง และผู้ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบลมีไม่เพียงพอ รถเก็บขยะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ไม่มีระบบจัดเก็บและกำจัดขยะที่เหมาะสม งบประมาณไม่เพียงพอ การคัดแยกและการจัดการทั้งขยะมูลฝอย ขยะติดเชื้อและขยะอันตรายไม่ถูกต้อง สาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าวเกิดจากประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกและการจัดการขยะที่ถูกวิธี

ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนซึ่งเป็นกรณีศึกษา มีการจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะให้กับเจ้าหน้าที่ ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไปในชุมชน ประชาสัมพันธ์เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้จัดการขยะมูลฝอยในบ้านเรือนตามหลัก 3R ได้แก่ Reduce ลดการใช้และลดการบริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็น Reuse ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยนำกลับมาใช้ซ้ำ และ Recycle นำสิ่งของที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบเดิมไม่ได้แล้วไปแปรรูปจนกลายเป็นสิ่งใหม่

บทบาทของผู้สูงอายุหลังจากได้เรียนรู้กระบวนการจัดการขยะและเห็นข้อดีของการจัดการขยะ คือการเป็นแบบอย่างคอยตักเตือน และส่งต่อความรู้ที่ได้อบรมในพื้นที่ต่าง ๆ ให้กับลูกหลาน นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีส่วนร่วมในเรื่องการจัดการขยะโดยตรง เช่น การประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้จนสร้างรายได้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม เช่น แปลงขยะเป็นบุญ ธนาคารขยะ ปลูกต้นไม้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงอายุออกมาสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุมีบทบาทในการเป็นแกนนำชุมชนในการร่วมวางแผนการจัดการขยะของชุมชน

อีกกิจกรรมหนึ่งของการจัดการขยะกับผู้สูงวัย คือการประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศประจำทุกปี โดยความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมู่บ้าน และชุมชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย3 จุดมุ่งหมายสำคัญของโครงการ คือ การเร่งรัดให้เกิดการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดการขยะอย่างครบวงจร กล่าวคือ (1) การจัดการ “ต้นทาง” ด้วยการพัฒนาเครือข่าย “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” โดยขยายผลให้ทุกครัวเรือนได้จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน (2) การจัดการ “กลางทาง” ด้วยการประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีภาชนะรองรับขยะมูลฝอยแบบแยกประเภทในที่สาธารณะ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง ตลอดจนวางระบบเก็บขนขยะแยกประเภทให้ได้ครบสมบูรณ์ทุกพื้นที่ ขนขยะอันตรายอย่างมีประสิทธิภาพ ติดตั้งจุดรวบรวมขยะติดเชื้อตามมาตรการในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (3) การจัดการ “ปลายทาง” ด้วยประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ลดขยะอันตรายชุมชนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อมิให้ขยะติดเชื้อตกค้างตามชุมชน

ตัวอย่างของการแก้ปัญหาที่น่าสนใจตามโครงการข้างต้น คือ การจัดการของจังหวัดลพบุรีที่ผ่านมาในหลายปี4 ซึ่งพบว่า  (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เพิ่มการรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้วยการจัดประชุม อบรม สัมมนา จัดทำเสียงตามสาย เพื่อชี้แจงสถานการณ์ปัญหาขยะ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะต้นทางและการใช้ประโยชน์ของขยะ (2) จัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกให้แก่นักเรียน เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยความสำเร็จของการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของจังหวัดลพบุรี ได้แก่ (1) การดำเนินการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยคณะกรรมการมูลฝอยจังหวัดซึ่งประกอบไปด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อกำกับทิศทางและส่งเสริมการบริหารจัดการขยะในจังหวัด (2) การสนับสนุนให้มีการถอดบทเรียนความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนใกล้เคียง (3) การพัฒนาการจัดการขยะชุมชนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ธนาคารขยะรีไซเคิล สวัสดิการชุมชนการคัดแยกขยะ (4) การแปรรูปขยะมูลฝอยและประดิษฐ์สิ่งของเหลือใช้ (5) การสร้างวิสาหกิจชุมชน โดยการรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนในการนำปุ๋ยหมักและผลิตภัณฑ์น้ำจุลินทรีย์จากขยะอินทรีย์

การดำเนินงานบริหารจัดการจังหวัดสะอาดได้ก่อให้เกิดผลในเชิงรูปธรรม คือ การมีสภาพแวดล้อมที่มีความสะอาดน่าอยู่ ในถนนสายหลัก สายรอง สถานที่ท่องเที่ยวมีความสวยงามน่าดึงดูดใจ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของคนในจังหวัด ในการดูแลจากหน้าบ้านสู่การดูแลชุมชนที่ทุกคนเป็นเจ้าของ หัวใจของความสำเร็จ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีเครือข่าย ในการร่วมลงมือทำและติดตามอย่างยั่งยืนในทุกระดับ

นอกจากนั้น การมีโครงสร้างการทำงานที่ให้มีภาคประชาชนร่วมเป็นคณะทำงานและมีบทบาทในการเป็นเจ้าภาพร่วม คือสูตรแห่งความสำเร็จของโครงการ รูปแบบการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการจังหวัดสะอาด ได้แก่ บวร+ค หรือ บ้าน+วัด+ราชการ+เครือข่าย กล่าวคือ บ้าน เป็นการให้ประชาชนในแต่ละครัวเรือนได้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะต้นทาง วัด เป็นศูนย์รวมใจของชุมชนและศูนย์รวมทุกกิจกรรม ราชการ หนุนเสริมและเป็นเจ้าภาพร่วมกับประชาชน เครือข่าย คือความร่วมมือจากภาคเอกชนกับองค์กรสาธารณะ

อีกงานวิจัยหนึ่งของไทยที่สร้างการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุต่อการจัดการขยะชุมชนอย่างชัดเจน คือ งานของ วิสาขา ภู่จินดา และคณะ5 โดยมีจุดประสงค์ในการเสนอแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในพื้นที่ชนบทภาคกลาง และสร้างกลไกความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการขับเคลื่อนการจัดการขยะ การวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) มีกลุ่มตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ชนบทภาคกลาง 19 จังหวัด คณะวิจัยได้คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพและการดำเนินการด้านการดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 6 ชุมชน เพื่อทำการประชุมสนทนากลุ่ม สร้างความเข้าใจในการจัดการขยะ จำนวน 30 คน ต่อชุมชน

ในการทำงานอื่น ๆ ได้แก่ ผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการจัดการขยะชุมชนและสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะชุมชน สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนอื่น ๆ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ก่อนจะถอดบทเรียนและประเมินผลการพัฒนาการเรียนรู้ คณะวิจัยได้จัดทำคู่มือผู้สูงอายุแปรรูปขยะชุมชนสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำไปเผยแพร่และทดสอบข้อมูลที่จัดทำขึ้นกับชุมชนชนบทอื่นอีก 2 ชุมชน ผลการศึกษาพบว่า การดำเนินงานของกลุ่มตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความสามารถในการปฏิบัติงาน มีเครื่องมือและงบประมาณเพียงพอในการปฏิบัติและพัฒนาความรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในการจัดการขยะ

ทั้งนี้ เมื่อผู้สูงอายุได้รับความรู้ด้านการจัดการขยะจากการฝึกอบรม ผู้สูงอายุจึงเข้าใจการคัดแยกขยะและตระหนักถึงปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และสามารถนำไปปฏิบัติได้ นอกจากนั้น ยังสามารถนำความรู้และประสบการณ์การคัดแยกขยะไปเผยแพร่ให้กับลูกหลานและเพื่อนบ้าน ข้อค้นพบอื่น ๆ คือ ผู้สูงอายุมีความสนใจในการสร้างอาชีพจากการนำขยะมาสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย การรีไซเคิลขยะเพื่อออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้เกิดงานอดิเรก มีรายได้และสร้างความภาคภูมิใจในตนเองและชุมชน

จากตัวอย่างกิจกรรมและงานวิจัย ทั้งภาครัฐและภาควิชาการในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมการจัดการขยะทั้งระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ และยังเป็นตัวบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีความตื่นตัวในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอันจะส่งผลกระทบต่อชุมชนของผู้สูงวัยเองในระยะยาว กระนั้นก็ดี การสื่อสารการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมและการศึกษาข้างต้นอาจยังอยู่ในวงจำกัด ผู้สูงวัยที่รับรู้ปัญหาและร่วมโครงการต่าง ๆ ข้างต้น อาจเป็นกลุ่มผู้สูงวัยเพียงไม่มากเมื่อเทียบกับอัตราประชากรสูงวัยในประเทศ ทั้งนี้คำถามสำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ผลการวิจัยและกิจกรรมที่มีมิติของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนข้างต้น ได้รับการเผยแพร่ไปยังกลุ่มผู้สูงวัยอื่น ๆ ที่มิได้อยู่ในชุมชนต้นแบบ หรือได้รับการคัดเลือกให้เข้าโครงการตั้งแต่ต้น เพราะแม้ว่าหลายโครงการจะมีเป้าหมายในการให้ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ไปยังสมาชิกอื่น ๆ ในชุมชน หากแต่ความสำเร็จอาจยังไม่เห็นเป็นที่ประจักษณ์เท่าใดนัก สื่อมวลชนและสื่อสาธารณะจึงจำเป็นที่จะต้องกระตือรือร้นในการถ่ายถอดและแนะนำโครงการต่าง ๆ ข้างต้น เพื่อขยายผลการจัดทำกิจกรรมให้ได้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

โดยกองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เอกสารอ้างอิง

  1. Acorn. (2019). Waste management and the elderly: A neglected problem? https://www.recycling-magazine.com/2019/07/03/waste-management-and-the-elderly-a-neglected-problem/
  2. วิสาขา ภู่จินดา และภารณ วงจันทร์. (2561).ความคิดเห็นของผู้สูงอายุต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุขององค์การบริหารส่วนตำบล. วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 24(1), 103-148.  https://so05.tci-thaijo.org/index.php/psujssh/article/download/127912/97049
  3. มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2565 ตั้งเป้าทุกชุมชนคัดแยกขยะและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี เพื่อบ้านเมืองสะอาด สวย. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/54519
  4. ถอดบทเรียนจังหวัดที่มีผลงานดีเด่นในการประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศประจ าปี พ.ศ. 2561 http://www.stabundamrong.go.th/web/Best_Practice/best19.pdf
  5. วิสาขา ภู่จินดา, ศิริวิมล สายเวช, วลัลนา วัฒนาเหมกร, และสิริสุดา หนูทิมทอง. (2562). แนวทางการพัฒนาการเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในพื้นที่ชนบทภาคกลางของประเทศไทย. คลังข้อมูลและความรู้ระบบสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5048?locale-attribute=th
Scroll to Top