ปกติการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการดูโทรทัศน์มักจะมุ่งไปที่เด็กและเยาวชน ส่วนวิจัยในกลุ่มผู้สูงวัยนั้น มักจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนมาก อย่างไรก็ตาม บทความที่ตีพิมพ์ใน Scientific Report ในปี 2019 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอน Daisy Fancour และ Andrew Steptoe ได้หยิบยกประเด็นผลกระทบจากการดูทีวีที่มีต่อภาวะสมองเสื่อมของผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมาวิเคราะห์ โดยใช้ข้อมูลจาก English Longitudinal Study of Aging ที่ติดตามศึกษาซ้ำ (panel study) คนอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ให้ข้อมูลเป็นฐาน ทั้งนี้ นักวิจัยได้นำข้อมูลจากการสำรวจระดับชาติของ English Longitudinal Study of Aging ในระยะที่ 4 ที่เก็บรวบรวมระหว่างปี 2008-2009 มาเป็นฐาน จากนั้นนำข้อมูลจากในการสำรวจระยะที่ 7 ในช่วงปี 2014-2015 หรืออีก 6 ปีต่อมา ซีงศึกษาซ้ำในคนเดียวกัน จำนวน 3,590 คนที่ไม่เคยได้เป็นโรคความจำเสื่อม มาวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการดูทีวีของคนกลุ่มนี้1
ผลการศึกษาในประเด็นเวลาที่ผู้สูงวัยใช้ในการดูทีวีในแต่ละวัน พบว่า มีสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือ จำนวน 19.6% ใช้เวลาดูทีวีน้อยกว่า 2.5 ชม., 19.1% ใช้เวลาดูทีวี 2.5-3.5 ชม., 18.4% ใช้เวลาดูทีวี 3.5-4.5 ชม., 23.4% ใช้เวลาดูทีวี 4.5-7 ชม. และ 19.6% ใช้เวลามากกว่า 7 ชม. โดยผู้หญิงใช้เวลาดูทีวีมากกว่าผู้ชาย เช่นเดียวกับกลุ่มคนโสด คนที่ไม่ทำงานแล้ว มีการศึกษาน้อย และสถานะทางเศรษฐกิจต่ำ1
สำหรับผลกระทบต่อความจำ พบว่า ผู้ที่สูงวัยดูทีวีมากกว่า 3.5 ชม./วัน ขึ้นไป มีภาวะความจำด้านการใช้คำ (verbal memory) แย่ลง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเนื้อหาหรือรายการที่ดูทำให้เกิดความเครียด เช่น เนื้อหาที่มีลักษณะก้าวร้าวรุนแรง ความขัดแย้ง หรือภัยพิบัติ1 ทั้งนี้ การมีภาวะเครียดเรื้อรังทำให้เซลล์ประสาทสมองฝ่อ ส่งผลต่อภาวะความจำบกพร่อง2 นอกจากนี้ การใช้เวลากับทีวีที่มากเกินไปก็ทำให้ผู้สูงวัยไม่ได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการฝึกสมอง3
การดูทีวีก็ไม่ใช่จะมีแต่ผลเสียต่อผู้สูงวัย เพราะมีหลายงานวิจัยที่ชี้ว่า การดูรายการจำพวกละคร ทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพจิตดีและมีความเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น4 อีกทั้ง ทีวียังเป็นช่องทางในการหลบหนีความจริงชั่วคราวจากสภาวะความยากลำบากและความกดดันต่าง ๆ ในชีวิตจริงได้อีกด้วย5 อย่างไรก็ตาม ผลจากงานวิจัยนี้ยืนยันถึงผลกระทบของการใช้เวลาในการดูทีวีที่มากเกินไปต่อภาวะความจำถดถอยในเรื่องของคำของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ยาก เพียงแค่จัดสรรเวลาหน้าจอไม่ให้เกิด 3.5 ชั่วโมงในแต่ละวัน
โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565
รายการอ้างอิง
- Fancourt, D., & Steptoe, A. (2019). Television viewing and cognitive decline in older age: findings from the English Longitudinal Study of Ageing. Scientific Report,9(2851). https://doi.org/10.1038/s41598-019-39354-4.
- Squire, L. R. (1992). Verbal memory and the hippocampus: a synthesis from findings with rats, monkeys, and humans. Psychol. Rev. 99, 195–231
- Fancourt, D., & Steptoe, A. (2018). Cultural engagement predicts changes in cognitive function in older adults over a 10 year period: findings from the English Longitudinal Study of Ageing. Scientific Report, 8, (10226).
- Black, J., & L. Barnes, J. (2015). Fiction and Social Cognition: Te Efect of Viewing Award-Winning Television Dramas on Teory of Mind. Psychol. Aesthet. Creat. Arts, 9.
- 5. Chu, G., & Schramm, W. (2004). Learning from television: what the research says. IAP.