ผู้สูงวัยกับการใช้อินสตาแกรม

อินสตาแกรม (Instagram) เป็นแอปพลิเคชันแชร์รูปภาพบนมือถือที่ให้ผู้ใช้แอปสามารถถ่ายภาพ และใส่ฟิลเตอร์ (ตัวกรองภาพ) เพื่อแชร์ลงบนหน้าบัญชีใช้งานของตนเองได้ อินสตาแกรมมีลักษณะคล้ายกับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ที่เปิดโอกาสให้นำเสนอตัวตนของผู้เป็นเจ้าของบัญชีใช้งานในโลกออนไลน์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด อินสตาแกรมมีผู้ใช้งานมากกว่า 400 ล้านคนต่อเดือน และมีผู้แชร์รูปภาพมากกว่า 40 พันล้านภาพ โดยมียอดกดให้หัวใจ (เหมือนกับการกดไลก์ในเฟซบุ๊ก) เฉลี่ย 3.5 พันล้านครั้งต่อวันสำหรับ มีรูปภาพไม่น้อยกว่า 80 ล้านรูปภาพได้รับการแชร์บนแพลตฟอร์มทุกวัน คนที่มีอายุในช่วง 18–29 ปี เข้าใช้งานมากกว่าครึ่งหนึ่งของบัญชีผู้ใช้งานทั้งหมด1

วิธีการทำงานของอินสตรแกรมขึ้นอยู่กับการปรับแต่งเนื้อหาหรือการคัดสรรภาพให้ผู้ใช้งานเห็นตามระบบประมวลผลคอมพิวเตอร์ (algorithms) สิ่งนี้เองเป็นตัวเปิดโอกาสหรือจำกัดมิให้ผู้ใช้งานมีการโต้ตอบกันข้ามความสนใจ กล่าวคือ ระบบจะจัดสรรรูปภาพในลักษณะเดียวกับรูปภาพที่เราอัพโหลดหรือกดชมภาพเป็นประจำเท่านั้น ความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์จึงอาจถูกกำหนดโดยบทบาทการใช้งานของเจ้าของบัญชีเอง ไม่ว่าจะเป็นการ “ติดตาม” “แสดงความคิดเห็น” หรือติด “แฮชแท็ก” สิ่งเหล่านี้ทำให้เจ้าของบัญชีสามารถสร้างการรับรู้ หรือรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมได้แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล

แม้ว่าหลายองค์กรจะบอกว่า อินสตาแกรมเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่อาจก่อเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตมากที่สุดหากมีการใช้อย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่จากผลวิจัยชิ้นหนึ่งกลับแย้งว่า กลุ่มผู้ที่เข้าใช้อินสตาแกรมบ่อยครั้ง มิได้มีอาการผิดปกติทางจิตใจหรือมีผลเสียกับจิตใจแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุมาจากหลักการที่ว่าการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อโพสต์รูปภาพ (มากกว่าการใช้โพสต์ข้อความ) จะช่วยคลายความเหงา เพิ่มความสุข และความพึงพอใจในชีวิตของผู้ใช้งานได้ เพราะรูปภาพมักเข้าใจง่ายกว่าข้อความ สร้างความเพลิดเพลินจากสีสันและลักษณะของภาพที่ลงโพสต์ได้

สาเหตุที่อิสตาแกรมช่วยบรรเทาสภาพจิตใจอันไม่พึงประสงค์ และกระตุ้นให้เกิดสภาวะคิดบวกได้นั้น อาจเนื่องมาจากรูปภาพช่วยให้คนคนหนึ่งปรากฏตัวทางสังคมได้ง่ายหรือสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกเสมือนจริงและมีความสุข ซึ่งเป็นการแชร์ความรู้สึกผ่านภาพและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ติดตาม อย่างไรก็ดี คำถามที่ว่า การเข้าดูอินสตราแกรมบ่อยครั้ง “เกินไป” นั้น เกี่ยวโยงกับปัญหาสุขภาพจิตเฉพาะรายบุคคลหรือไม่นั้น ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับการวิจัยในอนาคต โดยเฉพาะลักษณะของความแตกต่างของรูปภาพที่โพสต์ หรือระดับความถี่และประเภทของรูปภาพที่เข้าชมในสื่อสังคมออนไลน์2

นอกจากนั้น อิสตาแกรมยังเป็นมากกว่าแพลตฟอร์มส่วนบุคคล แพลตฟอร์มนี้ยังถูกใช้โดยองค์กรหลายแห่งในการส่งเสริมประเด็นด้านส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุขเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สูงวัย กระนั้นก็ดี หน่วยงานด้านสุขภาพในหลายประเทศที่ใช้แนวทางนี้กลับมีปัญหาในการทำให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมแพลตฟอร์ม เช่น การแชร์ข้อความ หรือกดสนับสนุน ทั้งนี้ มีการศึกษาเชิงสำรวจชิ้นหนึ่งได้ทำการวิเคราะห์หัวข้อและการโต้ตอบกับผู้ติดตามบนบัญชีผู้ใช้อินสตาแกรมของกระทรวงสาธารณสุขของโปรตุเกสและของบราซิลใน ค.ศ. 2019 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเด็นที่โพสต์ในอินสตาแกรมของการส่งเสริมสุขภาพมี ประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องถึงร้อยละ 19.2 จาก 208 โพสต์ และจาก 424 โพสต์ของประเทศบราซิลมีถึงร้อยละ 32.20 หัวข้อด้านสุขภาพ 53 รายการได้รับโพสต์ในบัญชีผู้ใช้ของโปรตุเกส และ 63 รายการในบัญชีผู้ใช้ของบราซิล ในโปรตุเกสไม่มีการโต้ตอบกับผู้ติดตาม ส่วนในบราซิล การโต้ตอบก็มีปริมาณน้อย แสดงให้เห็นว่า แม้หลายหน่วยงานจะพยายามใช้สื่อออนไลน์ที่โชว์รูปอย่างอินสตาแกรมในการสื่อสารสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย (ที่ใช้อิสตาแกรมอย่างจำกัดอยู่แล้ว) นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับแต่งกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อเพิ่มการเข้าถึงโปรไฟล์เหล่านี้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง3

งานวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจ คือการประเมินความสามารถในการใช้งานอินสตาแกรมผ่านการใช้สมาร์ทโฟน โดยเน้นกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในประเทศบราซิล ผ่านแบบสอบถามเพื่อให้เห็นมุมมองการใช้งานอินสตาแกรมของบัญชีผู้ใช้ที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์หลักคือ ผู้สูงอายุใช้เวลานานกว่าคนหนุ่มสาวโดยเฉลี่ยถึง 5 เท่าในการใช้งานอินสตาแกรม แต่ก็ไม่ได้มีนัยในเชิงลบต่อแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุระบุว่า พวกตนเลือกที่จะใช้อินสตาแกรมต่อไปอีกหลังจากได้มีโอกาสใช้แอปพลิเคชันนี้ครั้งแรก ความพึงพอใจหลังการใช้และเข้าถึงแพลตฟอร์มด้วยตนเอง ช่วยสร้างประสบการณ์ด้านบวกและทำให้ผู้สูงอายุมีความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จึงแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุอาจจะกลายเป็นตลาดใหญ่ขึ้นและขยายตัวมากขึ้นสำหรับอิสตราแกรมในอนาคต4

นอกจากผู้สูงอายุจะเป็นผู้เสพภาพหรือรับสื่อจากอินสตาแกรมอันเป็นบทบาทดั้งเดิมแล้ว ผู้สูงอายุยังอาจเป็นผู้สร้างคอนเทนต์หรือเนื้อหาในอิสตาแกรมเองได้ และมีส่วนสร้างฐานผู้ติดตามในอิสตาแกรมของตนให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งศึกษาโปรไฟล์ในอิสตาแกรมของสูงอายุที่เป็นอินฟลูอินเซอร์ หรือที่งานวิจัยชิ้นดังกล่าวเรียกว่า “แกรนฟลูอินเซอร์” (granfluencers) โดยคัดเลือกผู้สูงวัยในอิสตราแกรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 อันดับแรกมาศึกษา โดยเปรียบเทียบการโพสต์ของผู้สูงอายุเหล่านี้ทางดิจิทัล

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างแกรนฟลูเอนเซอร์ทั้งหลาย กล่าวคือ ผู้สูงอายุอาศัยรูปแบบการสื่อสารที่ต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในการโพสต์ ความสนใจส่วนตัว ความสามารถพิเศษที่ไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัวที่สร้างสรรค์และโดดเด่นในการสื่อสาร แม้จะมีความแตกต่างหลากหลายข้างต้นนี้ แต่ก็ยังมีบางแง่มุมที่ผู้สูงอายุบนอินสตาแกรมเหล่านี้มีคล้ายคลึงกัน เช่น การมุ่งเน้นไปที่แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ หรือการใช้น้ำเสียงในการสื่อสารที่ตลกขบขัน สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือการท้าทายภาพจำของความเป็นคนสูงวัย ด้วยการแสดงภาพลักษณ์ของตนเองเสียใหม่ เพื่อแสดงถึงความอู้ฟู่หรูหรา ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ผู้ติดตามคล้อยตามในสิ่งที่ตนกระทำ

แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้จึงเปิดโอกาสให้แกรนฟลูเอนเซอร์ได้พูดคุยกับสังคมและทำลายทัศนคติแบบเหมารวมและอคติของผู้สูงอายุ เป็นช่องทางที่ใช้เปลี่ยนความคิดคนทั่วโลก และเปลี่ยนวาทกรรมทางสังคมเกี่ยวกับความหมายของการเป็นผู้สูงอายุในสังคมร่วมสมัย ผู้สูงวัยที่นำเสนอตนเองผ่านอินสตาแกรมเหล่านี้ถือว่ามีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมได้อีกทางหนึ่งด้วย
โดยรวมแล้ว เราอาจเห็นได้ว่า แม้อิสตาแกรมจะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ดูจะผูกติดอยู่กับเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่ผู้สูงวัยอาจใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตนเองเสพผ่านอิสตาแกรมได้ หรือแม้กระทั่งการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ผ่านอินสตาแกรมด้วยตัวเอง ปัจจัยหลักที่เป็นตัวส่งเสริมหรือต่อต้านการใช้อิสตาแกรมของผู้สูงวัย อาจมาจากการยังไม่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองหรือครอบครัว ทว่าเมื่อเปิดตัวและเปิดใจเข้าสู่โลกออนไลน์ ได้เห็นผลลัพธ์ในเชิงบวก ได้รับการตอบรับจากผู้ติดตามบัญชีผู้ใช้ของตน ผู้สูงวัยก็สามารถเลือกหยิบสิ่งดีมีประโยชน์มาทำให้ชีวิตเป็นสุข เชื่อมโยงกับลูกหลานวัยอื่นได้ หรือแม้กระทั่งส่งต่อความสุขของตนผ่านอินสตาแกรมได้เป็นอย่างดี

โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ 4 ตุลาคม 2565

รายการอ้างอิง

  1. Instagram. (2016). Our story: A quick walk through our history as a company. https://about.instagram.com/en_US/blog
  2. Sakurai, R., Nemoto, Y., Mastunaga, H., & Fujiwara, Y. (2021). Who is mentally healthy? Mental health profiles of Japanese social networking service users with a focus on LINE, Facebook, Twitter, and Instagram. Plos one, 16(3), e0246090. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0246090
  3. Pinto, P. A., Antunes, M. J. L., & Almeida, A. M. P. (2021). Public Health on Instagram: an analysis of health promotion strategies of Portugal and Brazil. Procedia Computer Science, 181, 231-238. https://doi.org/10.1016/j.procs.2021.01.142
  4. Giassi, B. H., & Seabra, R. D. (2020). Influence of age on the usability assessment of the Instagram application. In 17th International Conference on Information Technology–New Generations (ITNG 2020) (pp. 423-428). Springer.
  5. Miranda, S., Antunes, A. C., & Gama, A. (2022). A different type of influencer? Examining senior Instagram influencers communication. In Proceedings of the 9th European Conference on Social Media (pp. 130-136). Academic Conferences International.
Scroll to Top