อคติต่อช่วงวัย กำแพงขวางกั้นการสื่อสารระหว่างคนต่างวัย

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราจะได้ยินคำว่า “วยาคติ” หรือ อคติต่อช่วงวัย (Ageism) กันบ่อยครั้งมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงผู้สูงอายุ คำว่ามนุษย์ลุง มนุษย์ป้า เชื่องช้า low- tech รวมถึงวลีที่แพร่กระจายในโลกออนไลน์ในหลากหลายประเทศอย่าง OK Boomer ที่คนรุ่นใหม่ใช้เสียดสีคนรุ่นเบบี้บูมเบอร์ว่ามีความคิดที่โบราณล้าสมัย หรือใช้ตัดบทการสนทนากับคนรุ่นก่อนให้หยุดแสดงความเห็นที่ล้าสมัยเสียที ในขณะที่คำพูดในทำนองที่ว่า ก็แค่ความคิดแบบเด็ก ๆ  เด็กเมื่อวานซืนจะไปรู้อะไร ที่มักได้ยินผู้ใหญ่พูดถึงคนที่อ่อนวัยกว่าก็ยังมีอยู่ตลอด เมื่อก่อนเราอาจจะไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่การที่คำพูดพวกนี้ถูกขยายในช่องทางออนไลน์ได้รวดเร็ว กว้างขวาง และตอกย้ำอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิด อคติ (Prejudice) การเหมารวม (Stereotype) และการเลือกปฏิบัติ (Discrimination)  ต่อคนที่มีช่วงอายุต่างไปจากตนเอง  ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นการเหยียดอายุ เหยียดวัย ที่ในทางวิชาการ เรียกว่า วยาคติ1 นั่นเอง

เมื่อปี 2564 “Global report on ageism” ที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ชี้ให้เห็นว่า อคติต่อช่วงวัย เป็นปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก  โดยพบว่า 34 จาก 57 ประเทศ เป็นประเทศที่มีอคติต่อช่วงวัยในระดับปานกลางไปจนถึงสูง แม้กระทั่งในทวีปเอเชียที่มีค่านิยมการเคารพผู้สูงอายุมายาวนาน ก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่ากลุ่มประเทศ “รายได้น้อย” ถึง “ปานกลางค่อนข้างน้อย” ได้แก่ กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในแอฟริกา มีอคติต่อช่วงวัยสูงที่สุด และสถิติที่น่าตกใจ คือ จะพบคนที่มีอคติต่อช่วงวัยในทุก ๆ สองคนบนโลกนี้

อคติต่อช่วงวัยส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม นำไปสู่ความไม่เข้าใจ ความขัดแย้ง การทะเลาะ และการไม่รับฟัง ไม่สื่อสารปฏิสัมพันธ์กัน ต่างคนต่างอยู่ หรือจะสื่อสารเฉพาะกับคนที่อยู่ในวัยเดียวกับ สำหรับในกลุ่มผู้สูงอายุ ลักษณะดังกล่าวจะส่งผลต่อเนื่องถึงมิติทางกายและทางจิตใจ กล่าวคือ จะทำให้สุขภาพกายถดถอย เกิดภาวะโดดเดี่ยวและความเหงาเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้า และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร1

ในส่วนของวัยรุ่น การมีความรู้สึกขาดอิสรภาพในการตัดสินใจและตกอยู่ภายใต้อำนาจการตัดสินใจของกลุ่มวัยผู้ใหญ่ รู้สึกว่าถูกล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว ถูกประเมินว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความสามารถ ก็ล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดจากอคติของผู้ใหญ่ที่สะท้อนออกมาจากภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร  ซึ่งนอกจากความรู้สึกดังกล่าวจะส่งผลต่อระดับความมั่นใจและมุมองที่มีต่อตนเองของวัยรุ่นแล้ว ยังทำให้วัยรุ่นเกิดอคติต่อผู้ใหญ่อีกด้วย2

สำหรับทางออกของการก้าวข้ามช่องว่างระหว่างวัยนี้ ก็คือ การลดกำแพงอคติต่อกันลง โดยเริ่มจากการฟังความต้องการของกันและกัน ฟังอย่างเคารพความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่เอาเรื่องของวัยมาเป็นข้อจำกัด
ซึ่งเริ่มจากการที่ผู้สูงอายุเปิดใจรับฟัง โดยไม่มองว่าตนเหนือกว่าเพราะมีประสบการณ์มากกว่า ขจัดความคิดว่าตนเอง ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ไม่ด่วนสรุป ตอบกลับ หรือสั่งสอน แต่หยุดฟังจนได้ยินความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่าย3 ในขณะเดียวกันเด็กและวัยรุ่น ก็ต้องพร้อมที่จะรับฟัง เคารพ โดยไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่พยายามมองและทำความเข้าใจจากมุมของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

การที่จะสามารถรับฟังกันแบบเปิดกว้างและเคารพความต่างของกันและกันจะต้องอาศัยการฝึกฝนจะเกิดขึ้นได้จากการฝึกทักษะการฟัง ที่ไม่ใช่เพียงสิ่งที่อีกฝ่ายพูด แต่ฟังให้เข้าใจถึงความคิด ความรู้สึกของคู่สนทนา โดยไม่ด่วนสรุปหรือด่วนตัดสิน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสื่อสารแบบที่เข้าใจคู่สนทนาจากมุมมองของเขา (Empathic communication)4  ทักษะนี้นอกจากจะช่วยทลายกำแพงที่ขวางกั้นการสื่อสารระหว่างคนต่างวัยแล้ว ยังเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมที่ไม่ค่อยจะมีใครฟังใครอย่างในปัจจุบันอีกด้วย

โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2565

รายการอ้างอิง

  1.  World Health Organization. (2021). Global report on ageism. Geneva.
  2. ศิรวัตร ไทยแท้. (2562). ภาษาและวยาคติ: ภาพสะท้อนจากมุมมองของวัยรุ่นที่มีต่อวัยผู้ใหญ่. วารสารภาษาและภาษาศาสตร์. 37(2), 47-81.
  3. KuahaIn. T. (2019). ‘OK, Boomer’ คำสั้นๆ จากคนรุ่นใหม่ที่อยากให้ผู้ใหญ่หันมาใส่ใจ. Adaybulletin. https://adaybulletin.com/know-lll-ok-boomer/44610
  4. Coveyม S.R. (2004). The 7 Habits of Highly Effective People: Powerful Lessons in Personal Change. Free Press.
Scroll to Top