สูงวัยอย่าง Active ชะลอความเสื่อมด้วยการออกกำลังกายผ่าน Social Media

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่ผ่านมานั้น เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทุกเพศทุกวัยมากแค่ไหน รวมไปถึงกลุ่มของผู้สูงวัยด้วย ส่งผลให้ผู้สูงอายุเป็นอีกหนึ่งกลุ่มช่วงวัยที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวันไม่ต่างจากคนในกลุ่มวัยอื่นมากนัก

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเรียนออนไลน์ การทำงานที่บ้าน ติดต่อสื่อสารออนไลน์ทั้งการโทรศัพท์หรือพูดคุยกันผ่านข้อความในช่องทางต่าง ๆ และเพื่อบริโภคสาระความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ดูภาพยนต์หรือละคร ฟังเพลง เล่นเกม หรือแม้แต่เสพคอนเทนต์บันเทิงสอดแทรกสาระความรู้ในด้านต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในสาระความรู้ที่ผู้สูงอายุบริโภคมากที่สุดนั้น คือ ด้านสุขภาพ 1

โดย “นิด้าโพล” ร่วมกับศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (CASR) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดผลสำรวจกิจกรรมที่ผู้สูงวัยทำในชีวิตประจำวันทุกวันในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า มีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 80.96% ที่เลือกทำกิจกรรมภายในบ้านของตนที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก (เช่น ฟังวิทยุ ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ / หนังสือ) และร้อยละ 74.96 เลือกทำกิจกรรมในบ้านที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย (เช่น ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ทำสวนครัว / สวนดอกไม้) นอกจากนี้ ผู้สูงวัยร้อยละ 64.64 ยังเลือกทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย (เช่น การเดิน โยคะ แอโรบิค ว่ายน้ำ เต้นรำ) 2

วัยสูงอายุนั้น เป็นวัยที่ต้องประสบพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมีการเสื่อมสภาพลง ทั้งยังพบว่าบางรายมีปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจร่วมด้วย ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมากมายก็ได้ให้คำแนะนำ ดังที่เรามักได้ทราบกันมาเสมอ นั่นก็คือ การออกกำลังกายสามารถช่วยปกป้องโรคภัยและสร้างเสริมสุขภาพที่แข็งแรงได้ แต่ก็ต้องทำอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการนำสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นช่องทางดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐบาลและเอกชน เป็นต้น ที่มักเผยแพร่ข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งภาพ หรือคลิปวีดีโอที่ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพของผู้สูงวัย รวมถึงข่าวสารด้านสุขภาพอื่น ๆ ผ่านแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูป หรือ TikTok นอกจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนแล้ว ยังมีสื่อที่ผลิตขึ้นเองจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดและแนะนำวิธีการออกกำลังกาย การดูแลตนเอง และโภชนาการสำหรับผู้สูงวัยอีกมากมาย ซึ่งจากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านการดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น 3

Rama Channel ซึ่งเป็นช่อง YouTube ที่จัดทำโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการแนะนำวิธีการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสมเอาไว้ โดยแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้ 4

  1. การออกกำลังเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต เพิ่มการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular endurance or aerobic)
  2. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อ ข้อต่อส่วนต่าง ๆ เป็นการออกกำลังกายแบบฝืนแรงต้าน (Strength training or resistance exercise)
  3. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น เหยียดยืดข้อต่อส่วนต่าง ๆ ป้องกันอาการข้อยืดติด (Flexibility training)
  4. การออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัว ความสมดุลของร่างกาย (Balance training)

ซึ่งการออกกำลังกายของผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมนั้น จะช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของระบบต่าง ๆ ทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับกล้ามเนื้อ ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงสมดุล และยังช่วยให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคมเพื่อส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรักสุขภาพและหันมาออกกำลังกาย เพื่อป้องกันตนเองจากโรคภัยรอบตัวแล้วนั้น แต่หากว่าขาดทักษะในการรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน เชื่อและทำตามทันทีโดยที่ขาดการยั้งสติ ไม่ศึกษาเพิ่มเติมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพให้ดีเสียก่อน อาจส่งผลให้เกิดอันตรายหรือผลร้ายต่อร่างกายและจิตใจตามมาได้เช่นกัน

แหล่งอ้างอิง

  1. นันทิยา ดวงภุมเมศ, สิรินทร พิบูลภานุวัธน์, ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์, ธีรพงษ์ บุญรักษา, และวราภรณ์ สืบวงศ์สุวรรณ์. (2565). รายงานโครงการฉบับสมบูรณ์ การขยายผลหลักสูตรวัยเพชรรู้ทันสื่อและการสำรวจสถานการณ์ผลกระทบการบริโภคสื่อ. โดยทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส). https://www.iceml.org/wp-ontent/uploads/2022/08/pdf.
  2. นิด้าโพล. (2565, 17 มกราคม). ผู้สูงอายุไทยใส่ใจสังคมมากน้อยเพียงใด. https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=38
  3. มนชาย ภูวรกิจ, ธนัญชัย เฉลิมสุข, และ ปรีชา ทับสมบัติ. (2565). รูปแบบการออกกำลังกายผ่านสื่อสังคมออนไลน์และความสามารถในการออกกำลังกายด้วยตนเองของผู้สูงอายุ. วารสารศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 9(1), 118-137.
  4. รามาแชนแนล. (2561, 1 ตุลาคม). ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างไรจึงเหมาะสม. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ผู้สูงอายุ-ออกกำลังกาย/
Scroll to Top