การเตรียมความพร้อมและเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศบราซิล

          ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก บราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดใหญ่และกำลังเข้าสู่สภาวะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปในทิศทางเช่นว่านี้  นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 บราซิลได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ประเด็นนี้ก็ยังไม่ได้อยู่ในความสนใจของชาวบราซิลมากนักในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2025 การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในบราซิลจะเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดขึ้น และยังมีการคาดคะเนอีกด้วยว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 บราซิลจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า อันเนื่องมาจากประชากรจะมีอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับอัตราการเกิดของทารกที่ลดลง1 ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ การเตรียมความพร้อมของภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบสนองและรองรับสังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

          การให้ความสำคัญต่อกลุ่มผู้สูงอายุในบราซิล เป็นสิ่งที่ปรากฏในสังคมมานานแล้ว สิทธิต่างๆ ของผู้สูงอายุ ได้รับการรับประกันภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีกฎหมายเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ตลอดจนการมีนโยบายจากภาครัฐทั้งในระดับชาติ ระดับมลรัฐ และระดับท้องถิ่นที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชน เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงสิทธิและการได้รับความช่วยเหลือต่างๆ จากสังคมได้2 นอกจากนี้ บราซิลยังเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในโครงการด้านสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ โดยในกรณีทั่วไป รัฐจะมีระบบประกันสังคมระดับชาติ ซึ่งเป็นประกันสังคมจากการสมทบวงเงินซึ่งถูกจัดเก็บโดยรัฐในช่วงวัยทำงานเพื่อใช้สำหรับเป็นบำนาญในอนาคตเมื่อเกษียณ แต่ในกรณีที่ผู้สูงอายุนั้นอยู่ในครอบครัวที่ยากจนมาก รัฐจะมีโครงการที่ได้รับการจัดสรรภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุเหล่านั้น การวางแผนสวัสดิการหลังเกษียณให้แก่ผู้สูงอายุของรัฐบาลบราซิล เป็นปัจจัยที่ช่วยลดปัญหาความยากจน และเป็นแหล่งพึ่งพาทางรายได้ที่สำคัญของผู้สูงอายุในประเทศ3  นอกจากนี้ บราซิลยังมีระบบสุขภาพโดยรัฐ (Brazilian public health system, Unified Health System: SUS) ซึ่งให้บริการด้านการสาธารณสุขและสุขภาพพื้นฐานโดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการให้สวัสดิการเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุชาวบราซิล ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาระบบสุขภาพนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก รัฐบาลจึงมุ่งเน้นแนวทางการป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า โดยมีมาตรการที่น่าสนใจ อาทิ โครงการสุขภาพครอบครัว ซึ่งโครงการที่ประสบความสำเร็จมาก เพราะเป็นการแบ่งเบาภาระการดูแลผู้สูงอายุระหว่างทีมแพทย์ที่ลงไปให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ชุมชนกับครอบครัวต่างๆ4 รวมทั้งการให้บริการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ ทั้งยังสามารถลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาทางการแพทย์ของภาครัฐได้อีกด้วย5

          เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร เศรษฐกิจ และสังคมได้ส่งผลต่อวิถีชีวิตและครอบครัวของชาวบราซิล ซึ่งแต่เดิมผู้สูงอายุเกือบครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่กับคู่สมรสและลูกหลานของตน แต่ในปัจจุบันผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับครอบครัวเช่นนี้มีแนวโน้มลดลง และในทางกลับกัน ผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงมีแนวโน้มการอยู่ตัวคนเดียวเพิ่มสูงขึ้น6 แต่กระนั้นก็ตาม สถานดูแลผู้สูงอายุหรือบ้านพักคนชรา ก็ไม่ได้รับความนิยมในบราซิล ด้วยข้อจำกัด 2 ประการสำคัญคือ (1) จำนวนสถานดูแลผู้สูงอายุมีจำนวนไม่กี่แห่ง ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะในเขตเมืองใหญ่ของประเทศ และ (2) กฎหมายได้กำหนดให้ครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัวและวัฒนธรรมทำให้คนบราซิลส่วนใหญ่ยอมรับหน้าที่การดูแลผู้สูงอายุมากกว่าครอบครัวในทวีปยุโรปหรืออเมริกาเหนือ7 แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต หากประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น หรือมีการเพิ่มจำนวนสถานบริการของภาคเอกชนเพื่อรับดูแลผู้สูงอายุตามความต้องการของตลาดและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

          การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของครอบครัวชาวบราซิลจากแต่เดิมที่คนในครอบครัวเป็นคนหลายรุ่นอยู่ด้วยกัน โดยลูกๆ จะอยู่อาศัยกับพ่อแม่จนกว่าจะแต่งงาน หรือมีผู้สูงอายุและเด็กๆ อยู่ร่วมกันในครอบครัว ไปสู่รูปแบบใหม่ที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มในการอาศัยอยู่เพียงลำพังเพิ่มขึ้นนั้น ในหลายกรณีเกิดจากการที่ลูกหลานที่เติบโตแล้ว มีความจำเป็นต้องย้ายไปทำงานต่างเมือง ทำให้ผู้สูงอายุต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในช่วงบั้นปลายชีวิต ความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงถูกแทนที่ด้วยความใกล้ชิดระหว่างเพื่อนฝูงและเครือญาติ ทำให้คนบราซิลกว่าร้อยละ 87 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีความคิดความเชื่อว่า ตนเองมีครอบครัวและเพื่อนฝูงที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ในยามที่ต้องการ และการอยู่ลำพังไม่ได้แปลว่าถูกทอดทิ้ง หากแต่เป็นอิสรภาพที่ตนสามารถพึ่งพาและอยู่ได้ด้วยตนเอง8 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเช่นนี้ จึงนำไปสู่ความพยายามในการสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับความสามารถทางร่างกายของผู้สูงอายุที่ลดลงทั้งในด้านการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือแม้กระทั่งความทรงจำ เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยบราซิลมีแนวทางและนวัตกรรมที่น่าสนใจเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุดังนี้

          1) การสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกช่วงวัย โดยให้ความสำคัญเบื้องต้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยรัฐบาลมุ่งพัฒนาผลักดันให้การสร้างเมืองต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วย เช่น การปรับปรุงเรื่องความสูงของบันไดรถโดยสารสาธารณะ การปรับปรุงทางเดินอาคารของหน่วยงานต่างๆ ที่ผู้สูงอายุต้องใช้บริการให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย เช่น การเพิ่มทางลาดเพื่อใช้เป็นทางเดินในโรงพยาบาล  ในเมืองเซาเปาโล (São Paulo) ซึ่งเป็นเมืองที่มีผู้สูงอายุอาศัยมากที่สุดในบราซิล มีการวางแผนงานเพื่อสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับทุกช่วงวัยได้โดดเด่นกว่าเมืองอื่นๆ  มีการสร้างสภาเมืองสำหรับผู้สูงอายุ การลงทะเบียนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเพื่อรับบริการสาธารณะและการรับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือทางสังคม โดยมีศูนย์ชุมชนเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการพบปะทางสังคม และมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในช่วงเวลากลางวัน เพื่อดูแลผู้สูงอายุในช่วงเวลาที่คนในครอบครัวไปทำงาน

          2) นวัตกรรมในเทคโนโลยีเพื่อให้ความช่วยเหลือ (Program for Innovation in Assistive Technology) ซึ่งได้รับการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากรัฐบาล และภาคเอกชน โดยรัฐบาลให้เงินสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมแก่บุคคลผู้เสนอผลงานที่ผ่านการแข่งขันคัดเลือก ตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัล เช่น Lifesenior เป็นอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน  นอกจากนี้ ยังมีความคิดสร้างสรรค์ที่ได้รับการพัฒนาโดยภาคเอกชนและมีวางขายแล้วในท้องตลาดบราซิล เช่น Digital Caretaker (Cuidador Digital) ซึ่งเป็นสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอดิจิทัล ที่มีปุ่มฉุกเฉินเพื่อกดส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไปยังรายชื่อผู้ติดต่อที่ได้ตั้งค่าไว้ ทั้งยังมีไมโครโฟนที่ติดตั้งในตัวเพื่อให้สามารถสื่อสารพูดคุยได้  และยังมีนวัตกรรมตรวจจับค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้สวมใส่ ผลิตภัณฑ์นี้มีชื่อว่า Easy Glic เป็นกำไลอัจฉริยะเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิร่างกายและความชื้น และยังตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด โดยเมื่อตรวจเจอความผิดปกติ เครื่องนี้จะส่งสัญญาณด้วยระบบสั่นเพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้งาน พร้อมกับส่งต่อข้อมูลไปยังแอปพลิเคชันที่ถูกติดตั้งไว้ในมือถือ ซึ่งจะส่งข้อความเพื่อแจ้งเตือนข้อมูลไปยังรายชื่อผู้ติดต่อที่ได้ลงทะเบียนไว้ในแอปพลิเคชันนั้น

          3) การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง โดยได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Me Cuido App (I take care myself) ขึ้นมา เพื่อการดูแลผู้สูงอายุระยะไกล (Telecare) ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่า ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ภายใต้สภาพแวดล้อมและสถานที่ที่ตนคุ้นเคย ผู้สูงอายุสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้มาติดตั้งไว้ในมือถือ เพื่อใช้ในกรณีที่เกิดภาวะหลงลืมชั่วคราวเมื่ออยู่นอกบ้าน ในแอปพลิเคชันก็จะมีเบอร์โทรสำหรับโทรหาคนในครอบครัว นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังมีการแจ้งเตือนเรื่องสำคัญ เช่น ช่วงเวลาในการทานยา  จากการทดลองในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้เข้าร่วมโครงการ พบข้อดีของการใช้แอปพลิเคชัน คือ การช่วยลดความวิตกกังวลของทั้งผู้สูงอายุและลูกหลานที่ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกันหรืออยู่ต่างเมืองกัน อย่างไรก็ตาม มีผู้สูงอายุบางรายได้ตั้งข้อสังเกตว่า แอปพลิเคชันทำให้ตนเองขาดความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ กลุ่มทดลองยังได้ให้ข้อคิดเห็นร่วมกันเพื่อปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น เช่น การเพิ่มขนาดของรูปภาพและตัวอักษรเพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็น โดยข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ได้ จะถูกนำไปใช้เพื่อวางแผนและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในอนาคตเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้ดียิ่งขึ้น9

          แม้ว่าบราซิลจะมีการเตรียมพร้อมโดยมีการวางแผนสวัสดิการและมีระบบบริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ รวมทั้งการส่งเสริมการคิดค้นคว้านวัตกรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่โดยลำพังหรือพึ่งพาตนเองได้อย่างปลอดภัยเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่บราซิลก็มีกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญคือ การเข้าถึงบริการดิจิทัลและการใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตของผู้สูงอายุที่ยังคงมีสัดส่วนน้อยกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งทำให้ภาคส่วนต่างๆ ต้องพิจารณาและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงระบบโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้เทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้นโดยภาคส่วนต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การสั่งสินค้าออนไลน์กลับเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้สูงอายุชาวบราซิลและมีสัดส่วนการสั่งซื้อที่ใกล้เคียงกับกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากร้านค้ามีบริการขนส่งสินค้า ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องเดินทางไปซื้อสินค้าด้วยตนเอง และช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดจากการถือของหนักได้ การคิดค้นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้สูงอายุ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของบราซิล เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้

โดย อ.ดร.วิศรา ไกรวัฒนพงศ์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

รายการอ้างอิง

  1. AARP International. (2023). Brazil. https://www.aarpinternational.org/initiatives/aging-readiness-competitiveness-arc/brazil
  2. Neumann, L. T. V., & Albert, S. M. (2018). Aging in Brazil. The Gerontologist, 58(4), 611-617.
  3. Travassos, G. F., Coelho, A. B., & Arends-Kuenning, M. P. (2020). The elderly in Brazil: demographic transition, profile, and socioeconomic condition. https://www.scielo.br/scielo.php?pid=S0102-30982020000100250&script=sci_arttext&tlng=en
  4. Garcez-Leme, L. E., & Leme, M. D. (2014). Costs of elderly health care in Brazil: challenges and strategies. MedicalExpress, 1(1). http://www.dx.doi.org/10.5935/MedicalExpress.2014.01.02
  5. AARP. (2019). The Aging Readiness & Competitiveness Report: Brazil. https://www.aarpinternational.org/file%20library/arc/countries/full%20reports/arc-report—brazil.pdf
  6. 6. Neumann, L. T. V., & Albert, S. M. (2018). Aging in Brazil. The Gerontologist, 58(4), 611-617.
  7. Garcez-Leme, L. E., & Leme, M. D. (2014). Costs of elderly health care in Brazil: challenges and strategies. MedicalExpress, 1(1). http://www.dx.doi.org/10.5935/MedicalExpress.2014.01.02
  8. AARP. (2019). The Aging Readiness & Competitiveness Report: Brazil. Retrieved from https://www.aarpinternational.org/file%20library/arc/countries/full%20reports/arc-report—brazil.pdf
  9. Perdomo Delgado, C. N., & Paschoarelli, L. C. (2020). Implementation of a Remote Control Application for Elderly People in Brazil: Analysis of the Factors Involved in the use of a Technological Innovation related to Telecare. Disability, CBR & Inclusive Development, 31(2), 148-156. http://doi.org/10.47985/dcidj.374
Scroll to Top