ความท้าทายของ Gen X กับการเป็น “แซนวิชเจเนอเรชั่น”

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายและพยายามหาแนวทางในการรับมือกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีลักษณะเป็นแบบพีระมิดแบบหดตัว (constrictive pyramid/ declining pyramid) ซึ่งเกิดจากจำนวนประชากรที่ลดลงจากอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ต่ำ ทำให้จำนวนเด็กที่เกิดใหม่ไม่ได้สัดส่วนที่จะทดแทนคนรุ่นพ่อและแม่ได้1 ส่งผลต่อเนื่องให้ประเทศไทยเป็น “สังคมสูงอายุสมบูรณ์” (complete-aged society) เนื่องจากมีจำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 20.08% หรือ 13,064,929 คน จากจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรทั้งหมด 66,052,615 ล้านคน2 ที่สำคัญ หากมองประชากรที่อยู่ในกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ (pre-aging) นั่นคือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-59 ปี จำนวน 10,005,690 คนในปัจจุบัน ที่ก็จะกลายเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำให้มองเห็นภาพของสังคมสูงอายุไทยที่จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นประมาณ 23 ล้านคน หรือ 34% ของประชากรทั้งหมด1  ถ้าจะทำให้มองเห็นภาพได้ง่ายขึ้นก็คือ ในทศวรรษหน้า ประชากรไทย 1 ใน 3 จะเป็นผู้สูงอายุ

เมื่อแนวโน้มโครงสร้างทางประชากรของไทยเป็นเช่นนี้ การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับจำนวนประชากรสูงอายุไทยที่จะเพิ่มขึ้นในอีกทศวรรษ จะต้องเริ่มจากการให้ความสนใจไปที่กลุ่มวัยก่อนสูงอายุ เพื่อเตรียมคนเหล่านี้ให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาระการดูแลจากภาครัฐ และสร้างพฤฒพลังในการพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยคนกลุ่มนี้จัดอยู่ในเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ หรือ Gen X ที่ยังคงทำงานและทำกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ แม้วจะอยู่ในโค้งสุดท้ายของชีวิตการทำงานก็ตาม

กลุ่มคน Gen X คือ ผู้ที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2508-2523 หรือมีช่วงอายุ 44-59 ปีในปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวน 16,091,150 คน คิดเป็นสัดส่วนถึง 25.31% ของประชากรไทยทั้งหมด3  โดยคน Gen X ได้รับการขนานนามว่าเป็น “แซนวิชเจเนอเรชั่น” (sandwich generation) นั่นคือ คนที่ต้องแบกความรับผิดชอบดูแลพ่อแม่ที่สูงวัยและลูกหลานที่ยังเป็นเยาวชน โดยการดูแลครอบคลุมทุกด้านในการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั้งสองกลุ่ม ไม่วาจะเป็นเรื่องการทำกิจวัตรประจำวัน การดูแลเรื่องอาหารการกิน การไปพบแพทย์ การกินยา สุขภาพกายและใจ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต4

Dorothy Miller ริเริ่มใช้คำว่า “แซนวิชเจเนอเรชั่น” ตั้งแต่ ค.ศ. 1981 เพื่ออธิบายถึงผู้หญิงวัยทำงาน อายุระหว่าง 30-40 ปี ที่ต้องทำหน้าที่ดูแลลูกและพ่อแม่ของตน4  ต่อมาความหมายของคำนี้ได้ขยายกว้างไปถึงคนที่ต้องรับผิดชอบดูแลสุขภาวะของคนสองเจเนอเรชั่นในครอบครัว โดยช่วงอายุของคนที่ถูกจัดเป็นแซนวิชเจเนอเรชั่นในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันไป แต่ในหลายประเทศ คนกลุ่มนี้มักจะอยู่ใน Gen X เช่น ในสังคมอเมริกัน คนกลุ่มนี้จะอยู่ในวัย 40-59 ปี โดยที่กว่า 63% ต้องดูแลสนับสนุนด้านการเงินแก่ลูกที่ยังอายุไม่ถึง 18 ปี และ 32% ต้องสนับสนุนด้านการเงินแก่พ่อแม่ที่อายุมากกว่า 65 ปี ทั้งนี้ 31% รู้สึกกดดันที่ต้องจัดตารางชีวิตเพื่อดูแลทั้งเรื่องงานและครอบครัว ยิ่งเป็นครอบครัวขนาดเล็ก ยิ่งทำให้ต้องแบกภาระหนักขึ้น เพราะไม่มีญาติพี่น้องคนอื่น ๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือได้5  ในขณะที่ในสังคมอังกฤษและเวลส์ แซนวิชเจเนอเรชั่นมีอายุระหว่าง 45-54 ปี โดยคนกลุ่มนี้มักรู้สึกกดดันที่ต้องบริหารจัดการเวลาให้ทำหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบได้ในทุกทิศทาง6

สำหรับในประเทศไทย มีงานวิจัยในปี 2560 ที่ชี้ว่า อายุเฉลี่ยของกลุ่มแซนวิชเจเนอเรชั่นอยู่ที่ 55.67 ปี ที่เป็นผู้ “แบก” ความรับผิดชอบด้านการเงิน ร่างกาย และจิตใจให้กับทั้งเด็กและคนสูงวัยในครอบครัว ไปพร้อมกับการประคับประคองชีวิตกตนเอง แม้ว่าภาระความรับผิดชอบนี้จะมีผลกระทบต่อความพึงพอใจด้านเศรษฐกิจของตน แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความพึงพอใจในด้านสุขภาพกาย ความสัมพันธ์กับลูก และกับคู่สมรส เพราะความรับผิดชอบด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา หรือการทำอาหาร ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนคนครอบครัว รวมทั้งความพึงพอใจในชีวิตให้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มแซนวิชเจเนอเรชั่น7   

ด้วยลักษณะของคน Gen X ที่ชอบพึ่งพาตนเอง รักอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ส่วนใหญ่ทำงานในระดับบริหาร ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับวิถีการทำงานแบบสมดุล work-life balance เน้นเรื่องความรับผิดชอบตามหน้าที่อย่างเต็มที่ เปิดกว้างทางความคิดหรือไอเดียใหม่ ๆ และเน้นเป้าหมายของทีมเป็นหลัก ที่สำคัญ คือ เมื่อถึงวัยเกษียณ คนกลุ่มนี้ไม่ก็ยังคงอยากทำงานประจำที่มีรายได้มั่นคง หรืออยากมีงานอดิเรกที่สร้างรายได้ เพราะค่อนข้างกังวลเรื่องความมั่นคงทางการเงินสำหรับการใช้ชีวิตบั้นปลาย อีกทั้งยังกังวลเรื่องประสิทธิภาพและการเข้าถึงระบบประกันสังคม และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เพราะมีประสบการณ์ตรงทั้งในเรื่องมลพิษ ขยะ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงชัดเจน ทำให้กังวลว่าตนเองจะต้องใช้ชีวิตในวัยสูงอายุท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพอย่างแน่นอน8

หน้าที่ความรับผิดชอบต่อผู้คนรอบด้าน ผนวกกับความกังวลเรื่องสถานะความมั่นคงทางการเงินในการใช้ชีวิตวัยเกษียณ ทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตถึงวันละ 5 ชั่วโมง 52 นาที เพื่อติดต่อสื่อสารสนทนา (67.57%) ติดตามข้อมูลข่าวสาร (51.17%) ทำกิจกรรมสันทนาการ (49.82%) ทำธุรกรรมทางการเงิน (33.47%) และการทำงาน (25.45%)9 มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่ชี้ชวนช่องทางการลงทุน และการสร้างรายได้ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความกังวลหลักของคนกลุ่มนี้  นอกจากนี้ Gen X ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานและชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อความเครียดที่สูงขึ้น ฉะนั้น การทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับ Gen X ในด้านภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของแซนวิชเจเนอเรชั่น อารมณ์ความรู้สึก ความคาดหวัง ความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยี จะช่วยทำให้สามารถเตรียมความพร้อมในช่วงเชื่อมต่อกับวัยสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตและใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมสูงวัยไทยให้มีคุณภาพและสุขภาวะต่อไป  

โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEML)
เผยแพร่ วันที่ 16 มิถุนายน 2567

รายการอ้างอิง

  1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2565). สถิติประชากรศาสตร์ ประชากรและเคหะ. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2567 จาก
    http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_01_11102_TH_.xlsx)
  2. กรมกิจการผู้สูงอายุ. (2566). สถิติผู้สูงอายุ. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2567 จาก
    https://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/2449
  3. สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง. (2567). สถิติประชากรทางทะเบียนราษฎร์. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2567 จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/mainpage
  4. Miller, D. (1981). The ‘sandwich’ generation: adult children of the aging. Social Work, 26(5): 419-423.
  5. Parker, K. & Patten, E. (2013). The sandwich generation: rising financial burdens for middle-aged Americans. Pew Research Center. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2567 จาก https://www.pewresearch.org/social-trends/2013/01/30/the-sandwich-generation/
  6. Ro, C. (29 January 2021). Why the ‘sandwich generation’ is so stressed out. Retrieved 8 June 2024 from https://www.bbc.com/worklife/article/20210128-why-the-sandwich-generation-is-so-stressed-out
  7. สุภาวรรณ เปรมชื่น (2560). ผลกระทบของภาระความรับผิดชอบที่มีต่อความพึงพอใจในชีวิตของกลุ่มแซนด์วิชเจเนอเรชั่น. https://repository.nida.ac.th/handle/662723737/6305.
  8. FutureTales Lab. (2022). วิถี Gen X วิถีเดอะแบก. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2567 จาก https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/วิถี-gen-x-วิถีเดอะแบกรู้หรือไม่-ชาว-gen-x-มีอีกฉายาว่า-เดอะแบก-และก็ยังมีสัดส่ว/1108676903270516/
  9. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2565). รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2565. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2567 จาก https://www.etda.or.th/getattachment/78750426-4a58-4c36-85d3-d1c11c3db1f3/IUB-65-Final.pdf.aspx
Scroll to Top