ชวนส่องเทรนด์ไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุในปี 2567: แม้วัยจะเพิ่มขึ้นแค่ไหน แต่หัวใจยังคงสดใสอยู่เสมอ

การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุทั่วโลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำหน้าอย่างก้าวกระโดด การดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัลจึงส่งผลต่อวิถีคิดและการดำรงชีวิตผู้สูงอายุในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ Thailand Creative & Design Center (TCDC) ได้วิเคราะห์รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุรุ่น “เจนเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์” (เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489-2507 หรือ อายุ 60 ปีขึ้นไป) ในปี 2567 โดยได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มและการเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ “Trend 2024: REMADE ANEW” 1 และได้นำเสนอไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุในหลากหลายด้าน จึงขอเชิญชวนมาส่องเทรนด์ไปด้วยกัน

การสร้าง content ต้องเน้นเอาใจกลุ่มผู้สูงวัย

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหลังเกษียณ ผู้สูงอายุกลุ่มเบบี้บูมเมอร์จะมีเวลามากมายในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของยุคดิจิทัล ทำให้เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งในโลก รวมถึงผู้สูงอายุยังกลายเป็นผู้ทดลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทั้งแบบทดลองใช้ฟรีและแบบจ่ายเงินมากกว่า 1.2 พันล้านครั้งต่อเดือน นี่เป็นเหตุผลที่หลาย ๆ แบรนด์ ตัดสินใจลงทุนในการโฆษณาผ่านแอปพลิเคชันหรือทำการสร้างเนื้อหาที่เน้นเอาใจกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรสนิยมที่แตกต่างกันออกไปบนสื่อโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก หรือ TikTok เพื่อกระตุ้นแรงจูงใจของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่อไป2

แอปพลิเคชัน TikTok เป็นที่ชื่นชอบของเจนเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ คนในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์มองว่าการพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ และมักจะใช้เวลาในการเล่นสื่อโซเชียลเป็นพิเศษในช่วงโควิด-19 เมื่อไม่สามารถพบปะเพื่อนได้โดยตรง กลุ่มนี้ยังมีความยินดีที่จะสมัครสมาชิกหรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใหม่เพื่อพบเพื่อนเก่า หรือเพื่องานด้านสังคมในโลกออนไลน์ อีกทั้งมักอัพเดตข่าวสารจากสื่อออนไลน์ ใช้เวลากับวิดีโอออนไลน์ โดยช่วงหลังของปี 2023 จนถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มการรับชมวิดีโอออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้แอปพลิเคชัน TikTok สามารถเข้ามาแข่งขันชิงพื้นที่และได้ใจของคนกลุ่มนี้ไปครอบครองในที่สุด ถึงแม้ว่าเฟซบุ๊กและยูทูบจะยังคงเป็นแอปพลิเคชันหลักของผู้สูงอายุก็ตาม3

ชอบความอิสระเหมือนอยู่บ้าน

ผู้สูงอายุหลายคนปรารถนาที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมของบ้านมากกว่าการอยู่ในสถานพยาบาล ถ้าจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล ก็ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้รู้สึกถึงความอิสระ การได้รับการดูแลเพื่อความช่วยเหลือโดยไม่รู้สึกถูกควบคุม เช่น มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการเชื่อมต่อไวไฟ เพื่อสามารถติดต่อกับเพื่อนฝูงบนโลกโซเชียลได้อย่างอิสระ

การทำงานเพื่อความคุ้มค่าของตนเอง

ตามรายงานของสมาคมผู้สูงอายุแห่งอเมริกา (ระบุว่า ผู้สูงอายุกลุ่มเบบี้บูมเมอร์มากถึง 40% วางแผนที่จะ “ทำงานจนกว่าจะตกงาน” ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุด้านการเงินหรือความไม่อยากอยู่เฉย ๆ ซึ่งสถานการณ์นี้เป็นเหตุให้มีผู้เลือกทำงานไปจนถึงอายุ 70 ปี โดยงานที่เลือกทำจะต้องให้ค่าตอบแทนคุ้มค่า และแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของคนทำงานโดยไม่แยกแยะระหว่างผู้สูงอายุกับคนรุ่นใหม่ และยังมีสวัสดิการให้เวลาพักผ่อนเพื่อดูแลสุขภาพหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย4

ในขณะเดียวกัน แนวโน้มที่ผู้สูงอายุไม่ต้องการเกษียณยังเป็นตัวบ่งบอกถึงสถานการณ์ทางการเงินของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งประเทศหลายประเทศกำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีรายงานหลายฉบับเปิดเผยว่า คนที่เข้าสู่วัยเกษียณในประเทศนั้นไม่พร้อมที่จะเกษียณ และตัดสินใจที่จะทำงานต่อไป สาเหตุหลักอาจเป็นเพราะพวกเขาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่สูงมากเกินกว่ารายรับ และไม่มีเงินเก็บออมเพียงพอกับค่าครองชีพอีกด้วย

ตัวอย่างผลสำรวจจากสถาบันวิจัยเมจิ ยาสุดะ (ประมาณเดือนธันวาคม 2023) แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งระบุว่า พวกเขาต้องการทำงานต่อหลังเกษียณอายุ ซึ่งปัจจัยหลักคือ ไม่มีเงินออมและเงินบำนาญไม่เพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (37.7%) และอยากมีรายได้เพิ่ม (กำลังคิดจะทำงานอีกครั้ง) เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในอนาคต (38.9%)5

ประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญวิกฤตนี้เช่นเดียวกัน โดยจากผลสำรวจจากธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2023 ระบุว่า มีคนไทยเพียง 25% เท่านั้นที่วางแผนการออมเพื่อการเกษียณและสามารถทำตามแผนได้ ขณะที่ 34.3% มีการออมเพื่อใช้ในช่วงเกษียณแต่ไม่สามารถทำตามแผนได้ ขณะที่ 21% ยังคงเพียงแต่วางแผน และ 19.7% ยังไม่ได้เตรียมการสำหรับการเกษียณเลย6

การเป็นที่ปรึกษาผู้คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

Senior Opinion Leader หรือ SOL คือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับในสาขาอาชีพมายาวนานในวัยอาวุโส ตำแหน่งนี้ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงความสำคัญและได้รับการยอมรับจากสังคม แม้ว่าจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่การเป็นที่ปรึกษาที่สนับสนุนกิจการหรือส่งเสริมองค์กรถือเป็นความสำเร็จสำหรับคนกลุ่มนี้

ใช้เงินซื้อความสุขในชีวิตบั้นปลาย

หลังจากผ่านประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความกังวลทั้งในเรื่องสถานภาพทางการเงินจนต้องหมั่นประหยัดและเก็บออม อีกทั้งในเรื่องของสุขภาพที่คอยกังวลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์อาจจะไม่ใช่กลุ่มคนกลุ่มแรกที่เริ่มต้นการผจญภัยชีวิตอย่างโลดโผน แต่พวกเขามีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงจากนิสัยรักการออมและความมัธยัสถ์ เป็นพร้อมที่จะจ่ายเพื่อความสุขของตนในชีวิตหลังเกษียณอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มทุนในการลงทุนเพื่อสุขภาพ การเพลิดเพลินกับอาหารนอกบ้าน การหาประสบการณ์ด้วยการเดินทาง และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม ยิ่งกว่านั้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เริ่มเปิดใจต่อการใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ ตู้กดอาหาร และระบบหุ่นยนต์สาธารณะมากขึ้น เพราะทำให้รู้สึกถึงคุณค่าในการใช้ชีวิตให้เต็มที่ และทันโลกทันสมัยกับคนวัยอื่น

ลักษณะการใช้จ่ายของวัยเบบี้บูมเมอร์นั้น พบว่า มีการสั่งของจากร้านออนไลน์ถึง 90% โดยนิยมสั่งผ่านเฟซบุ๊กมากที่สุด และมากกว่า 50% เลือกจ่ายแบบเก็บเงินปลายทาง โดยผู้สูงอายุต้องการภาพสินค้าและราคาที่ชัดเจน และไม่ชอบกดลิงก์หน้าเพจไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ หรืออินบอกซ์ถามหากไม่จำเป็น7

Ageless Marketing อายุเป็นเพียงตัวเลข

การตลาดแบบไม่จำกัดอายุหรือ Ageless Marketing เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับวัยเบบี้บูมเมอร์ที่มีความสนใจในการตามหาประสบการณ์และกิจกรรมที่ไม่เคยลองมาก่อน อย่างเช่น การเพลิดเพลินในการใช้บริการออกกำลังกายในฟิตเนส การสวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่นที่ไม่จำกัดอายุหรือมีสีสันที่สดใส การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสมกับทุกช่วงวัยรวมถึงผู้สูงอายุด้วย ซึ่งการออกแบบนี้ต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำความสะอาด และการเคลื่อนย้ายอย่างสะดวกสบายเป็นอันดับต้น ๆ อีกทั้งการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ เช่น การเป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหาคุณภาพหรือเป็นไอดอลที่สร้างสรรค์งานบันเทิง แม้ว่าอายุของพวกเขาจะอยู่ในช่วงวัยเกษียณแล้วก็ตาม

การใส่ใจสุขภาพมากกว่าวัยอื่น

ในช่วงเวลาของการชะลอวัย กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ส่วนใหญ่มักจะลงทุนในการส่งเสริมสุขภาพอย่างเช่นการออกกำลังกาย ทั้งนี้ งานวิจัยจาก Global State of Mind Index โดย Anima Sana In Corpore Sano (ASICS) พบว่า คนที่อยู่ในช่วงอายุ 57-70 ปี จะใช้เวลาออกกำลังกายโดยเฉลี่ยประมาณ 215 นาทีต่อสัปดาห์ ในขณะที่เจนซี (อายุ 12 – 27 ปี) ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 111 นาทีต่อสัปดาห์เท่านั้น ความกระตือรือร้นนี้ยังมีผลต่อพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมภูมิคุ้มกัน ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ผลิตภัณฑ์บำรุงกระดูก ผลิตภัณฑ์เสริมการนอนหลับและการบำรุงสมอง เพื่อป้องกันอาการของโรคอัลไซเมอร์ที่อาจเกิดขึ้นได้8

การพักผ่อนจากโลกออนไลน์เพื่อความสุขทางใจ

แม้ว่าผู้สูงอายุจะชื่นชอบการใช้สื่อดิจิทัล เพื่อติดตามกระแสและข่าวสารบนโลกออนไลน์ แต่ในทางกลับกันก็เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและอารมณ์อย่างมาก โดยกิจกรรมที่ช่วยให้เขาได้รับการพักผ่อนจากโลกดิจิทัลจะเป็นช่วงเวลาของความผ่อนคลายที่แท้จริง กิจกรรมที่คนวัยนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักให้ความสนใจคือการทำสวน การเก็บเกี่ยวผลผลิตธรรมชาติที่มีคุณค่ามากกว่าราคา ซึ่งการทำสวนนี้ยังช่วยลดการสิ้นเปลืองของทรัพยากร และเพิ่มความสุขในการเลือกซื้อสินค้าด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่วยลดสารพิษ และยังได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย

เทรนด์ในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเจนเบบี้บูมเมอร์ในโลกแห่งสื่อและเทคโนโลยีและดิจิทัล ทำให้เห็นว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก ทันสมัย และทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น และไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคโดยที่ตนเองมีความสุขทั้งกายและใจอีกด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความรักและความเคารพตัวเอง และการที่มองเห็นคุณค่าในตนเองของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์อย่างแท้จริง

โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEML)
เผยแพร่ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567

รายการอ้างอิง

  1. TCDC. (6 November, 2023). Trend 2024: REMADE ANEW. https://www.tcdc.or.th/th/all/service/resource-center/e-book/34204-trend-2024
  2. Chalathip. (14 December, 2023). เบบี้บูมเมอร์วางแผนทำงานจนกว่าจะตกงานไม่อยากเกษียณ แนะใช้การตลาด ‘ไม่จำกัดอายุ’. https://workpointtoday.com/babyboomer-trend-2024-work-life-digital/
  3. TCDC. (16 September, 2022). เจาะเทรนด์โลก 2023: CO-TOPIA. https://www.tcdc.or.th/th/all/service/resource-center/e-book/33686-trend-2023
  4. Choi-Allum, Lona. (January 2023). Understanding a Changing Older Workforce: An Examination of Workers Ages 40-Plus. Washington, DC: AARP Research. https://doi.org/10.26419/res.00554.001
  5. Mizuochi, M. (2024). The health consequences of returning to work after retirement: Evidence from a Japanese longitudinal survey. Economics & Human Biology, 52, 101330.
  6. วรุณรัตน์ คัทมาตย์. (17 มกราคม, 2567). ชาวบูมเมอร์ในสหรัฐจะ ‘เกษียณ’ จำนวนมากแต่ส่วนใหญ่ ‘เงินเก็บ’ ไม่พอใช้. https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1108889
  7. ประชาชาติธุรกิจ. (1 มกราคม, 2566). เจนเนอเรชั่นโฟกัส ปี 2023 เจาะไลฟ์สไตล์แต่ละ GEN. https://www.prachachat.net/d-life/news-1162143
  8. ASICS. (2022). State of Mind Index in Thailand 2022. https://www.asics.com/th/th-th/mk/smsb-state-of-mind-index-global-results
Scroll to Top