ผู้หญิงสูงวัยมักก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทันจริงหรือ? ภาพตัวแทนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของผู้หญิงสูงวัยในสื่อไทย

บทนำ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน การส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจกันอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเห็นได้จากการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลถูกกำหนดให้เป็นแนวทางวันผู้สูงอายุสากล (1 ตุลาคม) ในปี 2564 ที่ผ่านมา1 หน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยต่างให้ความสำคัญในประเด็นความรู้และทักษะด้านดิจิทัลของผู้สูงอายุ มีการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย และการจัดทำโครงการที่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมออกมาอย่างหลากหลาย2 ผลจากการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้เกิดภาพตัวแทนและการอภิปรายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเป็นวงกว้าง เช่น ในสื่อออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มักสะท้อนทัศนคติแบบเหมารวมของผู้สูงวัย โดยมักมองผู้สูงวัยว่า ‘ไร้ความสามารถทางดิจิทัล’ เนื่องจากไม่ยอมเท่าทัน หรือไม่มีความสามารถเพียงพอในการปรับตัว และคุ้นเคยกับเทคโนโลยีไม่เท่ากับกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงสูงวัย ซึ่งเป็นผลมาจากการกีดกันผู้หญิงออกจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่อดีต3

บทความนี้จะไขความกระจ่างเรื่องภาพตัวแทนและการกล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ของผู้หญิงสูงวัย ดังที่ถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลักของประเทศไทย โดยข้อมูลบางส่วนนำมาจากผลการวิจัยระดับปริญญาเอกของผู้เขียนเอง ทั้งนี้ ผู้เขียนจะเน้นไปที่ประเด็นการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในฐานะปัจจัยสำคัญของชีวิตผู้สูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ผลการวิจัยยืนยันว่า แม้การส่งเสริมให้เกิดทักษะด้านดิจิทัลในกลุ่มผู้หญิงสูงวัยจะเป็นประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ที่ดี แต่แนวทางของสื่อและวัฒนธรรมที่พยายามเกื้อหนุนนั้น กลับสร้างภาพจำในเชิงลบแก่ผู้หญิงสูงวัยเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอยู่นั่นเอง นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวอาจเพิ่มแรงกดดันให้กับผู้สูงอายุโดยไม่ได้ตั้งใจ กล่าวคือ การกดดันให้ต้องก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ แม้ว่าบางคนอาจจะไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลได้เลยก็ตาม ในท้ายสุด ผู้เขียนจะแสดงให้เห็นถึงผลที่ตามมาของภาพตัวแทนดังกล่าว และข้อเสนอแนะที่จะเป็นแนวทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีแก่ผู้สูงวัยต่อไป

สมรรถนะทางดิจิทัล: สมรรถนะที่พบได้น้อยในกลุ่มผู้หญิงสูงวัย

ความรู้ด้านดิจิทัลมักถูกมองว่า เป็นคุณลักษณะอันหาได้ยากในกลุ่มผู้หญิงสูงวัย โดยสื่อมักนำเสนอและมองว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อข่าวปลอม การฉ้อโกง และอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อการใช้ชีวิตคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ ของไทย ในช่วงปีที่ผ่านมา4 อันที่จริง การนำเสนอภาพตัวแทนเหล่านี้ อาจมองว่าเป็นความตั้งใจของสื่อที่จะช่วยฉายภาพเพื่อเตือนอันตราย บรรเทาภัยคุกคามทางออนไลน์ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัลอันเป็นทักษะชีวิต แต่ในบางครั้ง (ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก) หลายคนอาจมองว่า ผู้หญิงสูงวัยก็ ‘เก่งด้านเทคโนโลยี’ ได้เช่นกัน ภาพตัวแทนดังกล่าวปรากฏให้เห็นในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งทางช่อง Thai PBS คือรายการ ลุยไม่รู้โรย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทักษะและความสามารถของผู้สูงอายุ มีเนื้อหารายการในการส่งเสริมความมีคุณค่าในตนเอง สร้างแรงบันดาลใจ และเชิดชูการส่วนร่วมทางสังคมของคนทุกช่วงวัย5

ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้เอง บางตอนของรายการจึงตั้งใจที่จะท้าทายการรับรู้ในเรื่องผู้สูงอายุของคนทั่วไป เช่น การที่ผู้สูงอายุถูกมองว่าขาดทักษะด้านดิจิทัล ในตอนพิเศษดังกล่าว มีการนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงสูงวัยในฐานะผู้สร้างคอนเทนต์ออนไลน์ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เป็นผู้ประกอบการ หรือผู้ที่ทำงานทางไกลได้ด้วยเครื่องมือออนไลน์ในช่วงโควิด-19 กระนั้นก็ดี ความสามารถด้านดิจิทัลเช่นนี้ถูกเน้นว่าเป็นเรื่อง ‘ไม่ธรรมดา’ ดังที่ปรากฏในคำบรรยายว่าผู้หญิงสูงวัยในรายการบางคนถูกเรียกว่า ‘คนสูงวัยยุคใหม่’ ผู้เต็มใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเป็นคนพิเศษหรือต่างกับคนรอบข้างในวัยเดียวกัน แม้ว่าภาพตัวแทนและการเล่าเรื่องแบบนี้อาจดูเป็นไปใน ‘เชิงบวก’ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจสร้างทัศนคติแบบเหมารวมที่ว่า หญิงสูงวัย ‘ส่วนใหญ่’ ยังเป็น ‘ปกติ’ คือไม่ได้มีความรู้ด้านดิจิทัลเท่ากับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า

ผู้หญิงสูงวัยในฐานะผู้เรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล

จากสถิติของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในปี 2563 ระบุว่าประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่บอกว่าตนเองมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น6 สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเรื่องเล่า (narrative) ที่แพร่หลายกันในสื่อปัจจุบัน มองว่าผู้หญิงสูงวัยมักต้องอาศัยสมาชิกในครอบครัวช่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับดิจิทัลให้ เรื่องเล่าในลักษณะนี้ อาจพบเห็นได้ในรายการไลฟ์สไตล์ เช่น เกษียณสำราญ ช่องยูทูปของอินฟลูเอนเซอร์ด้านการตลาดออนไลน์จำนวน 4 คน ที่มีแม่ของอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ปรากฏร่วมด้วย7 ในหลาย ๆ ตอน บรรดาคุณแม่จะได้เรียนรู้การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และแอปพลิเคชันมือถือ เพื่อเชื่อมต่อและติดตามความเป็นไปของโลกสมัยใหม่ รวมถึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนที่จำเป็น แม้จะมีข้อจำกัดจากการล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ก็ตาม

นอกจากนี้ แม้ว่าภาพลักษณ์ของผู้สูงวัยกับเยาวชนที่ใช้เทคโนโลยีร่วมกัน อาจสื่อได้ว่าช่องว่างระหว่างวัยลดลง และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว ทว่าสิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ ภาพตัวแทนและเรื่องเล่าในลักษณะนี้ ยังแสดงให้เห็นเป็นนัยว่า ผู้หญิงยังขาดเสรีภาพและอำนาจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลโดยไม่จำเป็นต้องรอรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น ภาพตัวแทนและเรื่องเล่าของปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัยข้างต้น กลับลดบทบาทของผู้หญิงสูงวัยให้กลายเป็นเพียงแค่ ‘แม่…ผู้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากลูกหลานในครอบครัวอยู่เท่านั้นเอง’

ที่มาของภาพตัวแทนในสื่อของหญิงสูงวัยที่มี (หรือขาด) การรู้เท่าทันดิจิทัล

การจัดการกับผลกระทบเชิงจิตวิทยาที่อาจเกิดจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับการมี (หรือขาด) ความรู้ด้านดิจิทัลในกลุ่มหญิงสูงวัยนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาร่วมกัน เพราะผลที่ตามมาประการหนึ่งคือ ทัศนคติแบบเหมารวมต่อผู้หญิงสูงวัย ซึ่งอาจทำให้คนกลุ่มนี้ใช้เทคโนโลยีอย่างไม่มั่นใจ ไม่กล้า หรือกังวล8 บางคนอาจตกเป็นเหยื่อของ ‘การคาดการณ์ที่ตนพึงใจ’ (self-fulfilling prophecy) เพราะภาพจำผ่านสื่อที่เอ่ยถึงข้างต้นนั้น อาจไปกำหนดพฤติกรรมและการรับรู้ผู้สูงวัยว่า ‘มีความรู้ด้านดิจิทัลน้อย’ ซึ่งเป็นไปตาม ‘ความคาดหวัง’ ของสังคม9

ดังนั้น เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมเรื่องเล่าเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ของผู้หญิงสูงวัย ให้มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อทัดทานทัศนคติแบบเหมารวมข้างต้น แนวทางประการหนึ่ง คือการเพิ่มการมีส่วนร่วมและการพบเห็นผู้หญิงสูงวัยในสื่อในฐานะผู้สร้างคอนเทนต์ดิจิทัล และผู้ที่สอนทักษะทางเทคโนโลยีออนไลน์ให้แก่ผู้อื่นได้ ด้วยวิธีนี้ ผู้หญิงสูงวัยจะมีโอกาสแบ่งปันเรื่องราว พร้อม ๆ กับเพิ่มศักยภาพให้กับตนเอง บนแพลตฟอร์มสื่อต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมุ่งเน้นยังกลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยเป็นหลัก

นอกจากนี้ สื่อมักวางกรอบการเรียนรู้และการพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัลให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือเป็นเรื่องของผู้หญิงสูงวัยกับครอบครัวเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวาทกรรมแบบเสรีนิยมใหม่ที่เน้นการพึ่งพาตนเอง เพราะสวัสดิการสังคมและทรัพยากรสาธารณะมีจำนวนจำกัด10 เรื่องเล่าในสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ (รวมไปถึง ‘การนำเสนอแบบเหมารวม’ ของผู้หญิงสูงวัยว่ามี ‘ความสามารถทางดิจิทัลน้อย’) บางครั้ง อาจกดดันให้ผู้หญิงสูงวัยต้องรีบก้าวตามให้เท่าทันเทรนด์ใหม่ ๆ หารายได้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ และปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิทัลมากจนเกินไป โดยเฉพาะในผู้ที่ขาดทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคม และการเข้าถึงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วย

สภาพเศรษฐกิจสังคมและความสามารถที่แตกต่างกันในกลุ่มผู้สูงอายุ ล้วนมีอิทธิพลต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องเล่าในสื่อต่าง ๆ ที่ส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล จึงควรอธิบายให้ผู้รับสารที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้ทราบถึงตัวเลือกในการเรียนรู้เทคโนโลยีออนไลน์ตามความเหมาะสมกับความสามารถของตนเอง เมื่อเราส่งเสริมเรื่องเล่าให้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมทางเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้หญิงสูงวัยและผู้สูงอายุโดยรวมจะรู้สึกว่าตนเองเข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น และก้าวเดินออกมาจากชายขอบของภูมิทัศน์ทางดิจิทัลและเทคโนโลยีได้อย่างภาคภูมิ

เขียนโดย กุลนิษฐ์ นิติวรางกูร
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 17 มกราคม 2567
แปลโดย ผศ.ดร. ณรงเดช พันธะพุมมี

รายการอ้างอิง

  1. Barrie, H., La Rose, T., Detlor, B., Julien, H., and Serenko, A. (2021). “Because I’m old”: The role of ageism in older adults’ experiences of digital literacy training in public libraries. Journal of Technology in human ServiceS, 39(4), 379-404
  2. Chandler D. (2016), ‘Development as Adaptation’, in D. Chandler and J. Reid (eds), The Neoliberal Subject: Resilience, Adaptation and Vulnerability, London; New York: Rowman and Littlefield International, Ltd., pp.75-98 
  3. Cyr, E. N., Bergsieker, H. B., Dennehy, T. C., & Schmader, T. (2021). Mapping social exclusion in STEM to men’s implicit bias and women’s career costs. Proceedings of the National Academy of Sciences, 118(40), e2026308118
  4. Department of Older Persons. (2022, June 23). ผู้สูงวัยรู้เท่าทัน Fake News (ข่าวปลอม) (สลก.). https://www.dop.go.th/th/know/13/1568
  5. Happy Retire. (2023). Happy Retire Channel. https://www.youtube.com/@HappyRetire
  6. Jones, C., and Pimdee, P. (2017), ‘Innovative ideas: Thailand 0 and the fourth industrial revolution’, Asian International Journal of Social Sciences, 17(1), pp.4-35  
  7. Lin, C. I., Tang, W. H., and Kuo, F. Y. (2012), ‘Mommy Wants to Learn the Computer” How Middle-Aged and Elderly Women in Taiwan Learn ICT Through Social Support’, Adult Education Quarterly, 62(1), pp.73-90 
  8. National Institute of Development Administration (NIDA) (2020), ‘ผู้สูงวัยไทยใส่ใจสังคมมากน้อยแค่ไหน’, NIDA Poll, Available at: https://nidapoll.nida.ac.th/data/survey/uploads/FILE-pdf
  9. Sofiat, A. (2021, October 1). How can we ensure digital inclusion for older adults? The World Economic Forum. https://www.weforum.org/agenda/2021/10/how-can-we-ensure-digital-inclusion-for-older-adults/
  10. Thai PBS. (2023). Lui Mai Roo Roi. https://www.thaipbs.or.th/program/Lui/season4
Scroll to Top