“ตุ๊กตาวูดู” กับ “โลกที่เราอยากเห็น”: การกรองด้วยตะแกรงแห่ง “สติ”

 

พหุวิถี: สื่อสารยุคใหม่ แนวที่ใช่ของ พ.ศ. นี้ (Multimodality: the 21st Century Communication)

คำกล่าวที่ว่า สื่อ(มวลชน)มีอิทธิพลกับชีวิตของคนเรา “ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงเวลาหลับ” หรือ “ตั้งแต่เกิดจนตาย” นั้นยังคงใช้ได้อยู่เสมอ โดยที่โลกทุกวันนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทหลักในการติดต่อสื่อสาร สื่อออนไลน์มีความสำคัญแบบก้าวกระโดด และสื่อ(มวลชน)เก่าถูกลดบทบาทลงอย่างชัดเจน เทคโนโลยีการสื่อสารได้สร้างการเปลี่ยนถ่ายอำนาจและองค์ความรู้ โดยให้พื้นที่แก่ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ที่อาจไม่เคยมีตัวตนหรือมีความสำคัญในสื่อกระแสหลักมาก่อนเพื่อผลิตวาทกรรมของตนเองในทางที่อาจจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเนื้อหาที่เผยแพร่ในกระแสหลัก หรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  สื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูล ให้ความรู้ ความบันเทิง สร้างสติปัญญา มอบความสุข ความรื่นรมย์ ความสมหวัง ตลอดจนยั่วยุให้เกิดความหงุดหงิด รำคาญใจ หรือกระทั่งเป็นทุกข์ได้ สื่อเป็นตัวสร้างโลกด้วยชุดความจริงหนึ่ง ที่ทำให้เราเชื่อถือ ยึดโยง และปฏิบัติตามสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น สื่อจึงเปรียบเสมือนพลังขับเคลื่อนทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญประการหนึ่ง

สูงวัย: ความโยงใย กับ “พหุแพลตฟอร์ม”

เมื่อมองถึงบริบททางการสื่อสารของประเทศไทย พบว่าภาพการสื่อสารแบบ “พหุวถี” (multimodality) มีความแจ่มชัดเช่นเดียวกับในภูมิทัศน์การสื่อสารของโลก (global media landscape) กล่าวคือมีการหลอมรวม  สื่อ(มวลชน)เก่า และสื่อใหม่ไว้ด้วยกัน (media convergence) นอกจากนี้ เทคโนโลยีทำให้องค์ประกอบทางการสื่อสารอื่น ๆ เช่น ภาพ เสียง ภาษาท่าทาง ภาพเคลื่อนไหว ภาพสามมิติ ขนาดภาพ สี รูปแบบและตัวหนังสือ ฯลฯ มีความสำคัญต่อการสร้างและตีความเนื้อหา รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ในการสื่อสาร มากกว่าการตีความความหมายจากวจนภาษา (verbal language) เป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา 1 “ผู้(ใช้)สื่อ” และ “ผู้รับสาร” จึงจำเป็นต้องมีความตระหนักและเข้าใจถึงพลวัตทางการสื่อสารดังกล่าว

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้สูงอายุถือเป็นหนึ่งตัวแสดงหลัก (actor) ในภูมิทัศน์การสื่อสารของประเทศไทย ทั้งในฐานะ “ผู้(ใช้)สื่อ” และ “ผู้รับสาร” เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากตัวเลข“ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์” (social media) จากดิจิตัลรีพอร์ตของประเทศไทยในปี 2565 ที่สูงถึง 56.85 ล้านคน โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่จำนวนไม่น้อย2 จึงกล่าวได้ว่าผู้สูงวัยมีความ “โยงใย”กับสื่อออนไลน์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) ที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม การล็อคดาวน์ หรือทำงานจากบ้าน ผู้สูงอายุมีการใช้งานไลน์ (LINE) เฟซบุ๊ค (Facebook) ในการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวเพื่อนฝูง หรือเพื่อค้นหาข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพ การแพทย์ ติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และส่งต่อข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นไปยังผู้อื่น รวมทั้งใช้เพื่อความบันเทิง การศึกษา ตลอดจนเลือกซื้อสินค้าบริการ และทำธุรกรรมการเงินผ่านทางเวบไซต์ (web 4.0) หรือแอปปลิเคชั่นออนไลน์ (online application) เพิ่มขึ้นอย่างมาก3 เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของผู้สูงอายุไทยในการปรับตัวเพื่อก้าวข้ามความท้าทายของการสื่อสารผ่าน “พหุแพลตฟอร์ม” ที่น่าจับตามอง

ทั้งนี้ ภาครัฐมีการวางยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับพลวัฒน์ทางการสื่อสารและความเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของประเทศไทยเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ ภูมิคุ้มกันทางสังคม และการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ประชากรสูงวัย คำถามที่น่าสนใจคือ ผู้สูงอายุไทย มี“ความรู้เท่าทันสื่อ(ใหม่)” (new media literacy) มากน้อยเพียงไร จากการศึกษา         ของอัญมณี ภักดีมวลชน ในปี 25644 ชี้ว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวนหนึ่งมีความรู้เท่าทันการส่งต่อข่าวลวง (fake news) ที่ส่งผ่านไลน์ รวมทั้งทักษะการเตือนภัยข่าวลวงดังกล่าวในระดับมาก กระนั้นทักษะดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางประชากรศาสตร์บางประการ เช่น อายุ ที่อยู่อาศัย การศึกษา รายได้ และสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมของแต่ละบุคคล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวนหนึ่งที่ยังติดกับดักความเป็น “นักสื่อสาร” ที่ปราศจากการไตร่ตรอง กลั่นกรอง หรือฉุกคิดเพื่อตั้งคำถามก่อนที่จะส่งต่อข่าวลวงหรือข้อมูลใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมโดยรวม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคที่การสื่อสารมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นนี้  ผู้สูงวัยที่ไม่มีความรู้เท่าทันธรรมชาติของสื่อใหม่จึงอาจเพลี่ยงพล้ำ ตกเป็นเหยื่อ ถูกล่อลวง หรือถูกใช้ประโยชน์จากกระบวนการทางธุรกิจหรือกลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ โดยไม่รู้ตัว

“ตุ๊กตาวูดู” กับ “โลกที่เราอยากเห็น”

เฟซบุ๊ค (Facebook) ถือเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารออนไลน์ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในประเทศไทย รองลงมาคือไลน์ (LINE) และแมสเซนเจอร์ (Facebook Messenger) จึงไม่น่าแปลกหากภาพชินตาสำหรับลูกหลานหลาย ๆ คน คือภาพ พ่อแม่ ลุงป้าน้าอา หรือกระทั่งปู่ย่าตายาย กำลังก้มหน้าก้มตาพิมพ์อะไรบางอย่างอย่างขะมักเขม้น หรือใช้ปลายนิ้วจิ้มไปยังหน้าเพจพลางเลื่อนฟีดขึ้นลง พร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้มปนเสียงหัวเราะ หรือสีหน้าแววตาบางอย่างที่ลูกหลานไม่อาจคาดเดา แม้กระทั่งเปล่งเสียงร้องอุทานอย่างตกอกตกใจไปกับสิ่งที่ปรากฎบนหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ การศึกษาของดิจิตัลรีพอร์ตปี 2565 ยังชี้ให้เห็นว่าแต่ละวัน “ผู้(ใช้)สื่อ”ในประเทศไทยใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง 59 นาที หรือประมาณเกือบ 3 ชั่วโมงบนโลกออนไลน์ รวมทั้งในแต่ละเดือนยังเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ประมาณ 7.6 แพลตฟอร์มอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจหากผู้สูงอายุแต่ละท่านอาจใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับ “สื่อออนไลน์” สื่อที่ให้เราได้ใช้ประโยชน์แบบแทบจะ“ไร้ค่าใช้จ่าย” ทว่าหากมองให้ลึกลงไปแล้วสิ่งที่แต่ละคนสูญเสียไปอาจมีราคาสูงลิบแทบประเมินค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ด้วยซ้ำ

เรากำลังพูดถึงความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ข้อเสนอที่ดูเหมือน “ฟรี” “ไร้เงื่อนไข” และ “แสนใจดี” ของบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นเจ้าของสื่อออนไลน์ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีกลุ่มคนที่เคยทำงานในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เจ้าของแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค (Facebook) กูเกิ้ล (Google) อินสตาแกรม (Instagram) ทวิตเตอร์ (Twitter) พินเทอเรซ (Pinterest) โมซิลล่า (Mozilla) ฯลฯ รวมทั้งนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด  (Harvard) หรือแสตนฟอร์ด (Stanford) ซึ่งนำโดยทริสตัน แฮรริส (Tristan Harris) อดีตผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์บริษัทกูเกิ้ลออกมาเปิดเผยความจริงว่า ขณะนี้ผู้ใช้สื่อออนไลน์จำนวนกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลกกำลังถูกบังคับให้ใช้แพลตฟอร์มที่ปราศจากจรรยาบรรณและปนเปื้อนด้วยมลพิษอย่างไร้ทางเลือก5 สิ่งนี้สอดคล้องกับข้อสงสัยที่หลาย ๆ คนเคยตั้งคำถามว่า ในเมื่อสื่อออนไลน์เหล่านี้ให้พวกเราได้ใช้กันอย่างฟรี ๆ แล้วอะไรคือผลตอบแทนของพวกเขาเล่า? แม้ว่าคำตอบจะไม่ยากเกินคาดเดา เพราะมันคือผลกำไรขนาดใหญ่จากการที่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ขายข้อมูลของ “ผู้(ใช้)สื่อ” ให้แก่บริษัทโฆษณา โดยที่พวกเราอาจไม่ได้ล่วงรู้แม้แต่น้อย ทว่าเมื่อขุดลึกลงถึงกระบวนการแสวงหาผลกำไรดังกล่าว หลายคนอาจรู้สึก “ไปไม่เป็น” กับความจริงที่ปรากฏซึ่งช่วยตอกย้ำคำกล่าวที่ว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” หรือที่ศาสตราจารย์โชชานา ซูบอฟ (Shoshana Zuboff) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด หนึ่งในผู้ร่วมเปิดโปงกระบวนการที่ไร้จริยธรรมนี้กล่าวว่า “ถ้าเราไม่ได้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าเหล่านั้น เรานั่นแหละที่จะกลายเป็นสินค้าเสียเอง”

นี่เป็นที่มาของ “ตุ๊กตาวูดู” (voodoo doll) หรือแบบจำลองพฤติกรรมของ “ผู้(ใช้)สื่อ” ที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ “ตุ๊กตาวูดู” สร้างขึ้นจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (Artificial Intelligence-AI) ซึ่งบริษัทป้อนโปรแกรมไว้ บนหลักการ (1) “จับตามอง” (monitoring) พฤติกรรมและความสนใจของเราต่อข้อมูลข่าวสาร  สินค้าบริการ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ  (2) จากนั้นจะทำการ“เก็บข้อมูล” (collecting data) โดยบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของเราไว้ ทุก ๆ ครั้งที่เข้าแพลตฟอร์มต่าง ๆ เอไอจะทำการแบ่งประเภทของข้อมูล เช่น เราเข้าถึงข้อมูลประเภทใดบ้าง บ่อยแค่ไหน ใช้เวลากับเรื่องใดนานเท่าไหร่ มักมีปฏิสัมพันธ์กับใครหรือข้ามใครไป ชอบชมโฆษณาหรือเลือกซื้อสินค้าประเภทไหน จากร้านค้าใด อะไรเป็นตัวกระตุ้นความสนใจหรือการตัดสินใจซื้อ ฯลฯ (3) “ควบคุม”(controlling) จากข้อมูลข้างต้นที่เก็บได้ เอไอจะประมวลผลและสร้าง “โลกคู่ขนาน”(parallel world) ไปกับโลกความจริงที่มีอยู่ ทุก ๆ ครั้งที่เราเข้าใช้บริการในแพลตฟอร์มออนไลน์ใด ข้อมูลที่เราชื่นชอบ สนใจ และอยากรู้ จะปรากฏให้มองเห็นได้บ่อยขึ้น มากขึ้น ขณะที่ข้อมูลใดไม่ตรงกับความสนใจแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นเลย  และ (4) “ใช้ประโยชน์” (manipulating) เป็นขั้นตอนที่เอไอผู้สร้างแบบจำลอง “ตุ๊กตาวูดู”ของเรา เล่นกับความชอบและความสนใจของเราขั้นสูงสุด เพราะเมื่อเห็นแต่ภาพหรือข้อมูลที่ตนเองปรารถนา เอไอรู้ว่าเราจะเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วม (engagement)  เสพติด (addiction) และอยากอยู่ในแพลตฟอร์มเหล่านั้นนานขึ้น เข้ามาใช้บริการบ่อยขึ้น จึงมีโอกาสเห็นโฆษณาของสปอนเซอร์บ่อยขึ้น และอาจยอมจ่ายเงินให้กับสิ่งเหล่านั้นในที่สุด6 เอไอรู้ว่าการฉายซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ของชุดข้อมูลจะเป็นตัวกระตุ้นการตัดสินใจจ่ายเงินมากขึ้นแม้เราอาจไม่เคยรู้จักหรือสนใจสินค้าเหล่านั้นมาก่อนเลย ดังนั้น ข้อมูลของผู้ที่เข้าใช้สื่อออนไลน์ยิ่งบ่อยยิ่งมีมูลค่ามากในการทำกำไรให้กับบริษัทสื่อออนไลน์

มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า ชื่อ “ตุ๊กตาวูดู” นั้นช่างเหมาะสมกับหน้าที่ของมันเสียเหลือเกิน อุปมา “ตุ๊กตาวูดู” ก็คือตุ๊กตาแห่งเวทมนตร์ที่สร้างแบบจำลองตัวเราจากตัวเรา และคงไม่เกินจริงหากจะพูดว่า“ตุ๊กตาวูดู” แทบจะรู้จักตัวเรามากกว่าที่เรารู้จักพฤติกรรมของตัวเองด้วยซ้ำ เพราะทุก ๆ ครั้งที่เราคิดจะเอนกายพัก เลื่อนอ่านฟีดต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์อย่างผ่อนคลาย หรือชมเว็บไซต์ใด ๆ เพื่อความบันเทิง ปลีกวิเวกเงียบ ๆ เป็นอิสระปราศจากผู้คนกวนใจนั้น หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้ว มีสายตาที่คอยจับจ้องเราอย่างใกล้ชิด ไม่ยอมให้เราคลาดสายตา แถมยังตัดสินและประเมินเราอยู่อย่างเงียบเชียบ มันเก็บข้อมูลเชิงพฤติกรรมทางออนไลน์ของเราอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง นำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดชนิดที่เจ้าตัวเองก็ไม่อาจจดจำหรือล่วงรู้ได้เลย “ตุ๊กตาวูดู” กับ “โลกที่เราอยากเห็น” จึงมีอานุภาพอย่างมากต่อตัวผู้สูงวัย ที่เป็นทั้ง “ผู้(ใช้)สื่อ” และ “ผู้รับสาร” ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และทำลาย

แม้ว่าในเชิงสร้างสรรค์ (constructive consequences) ผู้สูงวัยจะได้เห็นการผลิตซ้ำชุดข้อมูล อุดมการณ์ ความเชื่อ ที่ตรงกับความชอบและความสนใจเฉพาะตน ทำให้เกิดความสบายใจ รื่นรมย์ ผ่อนคลาย แม้แต่ได้รับความรู้และเข้าใจเนื้อหา หรือปรากฏการณ์นั้น ๆ ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ทว่าผลในเชิงทำลาย (destructive consequences) ก็มีไม่น้อย เพราะ “โลกที่เราอยากเห็น” นี้ เป็นเพียงโลกคู่ขนานที่ถูกสร้างขึ้นจากชุดข้อมูลไม่กี่ประเภทที่มีอยู่ อาจถูกบิดเบือนจากความเป็นจริง (disinformation) ไม่รอบด้าน เป็นไปเพียงเพื่อตอบสนองแค่ “ความชอบ” และ “ไม่ชอบ” ของผู้สูงวัย ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวอาจไม่สามารถตอบคำถามเชิงคุณธรรมจริยธรรมให้กับสังคมได้เลย

สิ่งเหล่านี้อาจนำพาผู้สูงวัยที่ไม่รู้เท่าทันสื่อ(ใหม่)หรือเล่ห์ลวงของบริษัทเทคโนโลยีให้หลงไปในทางที่เป็นโทษ ในระดับบุคคล อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเสพติดการใช้สื่อออนไลน์ (addiction) เพราะแพลตฟอร์มเหล่านั้นถือเป็นที่พักจิตพักใจ ได้มองได้เห็นในเรื่องที่สนใจใคร่รู้ จึงอยากจะใช้เวลาในการอยู่บนโลกออนไลน์วันละนาน ๆ นอกจากนี้ การผลิตซ้ำของชุดข้อมูล ผ่านทางตัวหนังสือ ภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว อาจเป็นการเพิ่มความรู้สึกหลงในอัตตาตัวตน (narcissism) ยึดติดในความเป็นตัวเอง ความคิดความเชื่อของตน จนไม่อาจเปิดใจรับข้อวิจารณ์ เสนอแนะ หรือความคิดเห็นที่แตกต่างได้ เพราะในแต่ละวันพบแต่การฉายซ้ำของชุดข้อมูลที่ตอกย้ำสิ่งที่ตนเองเชื่ออยู่แล้ว (confirmation bias) ทำให้ยิ่งเชื่ออย่างฝังรากลึกลงไปอีก หนักเข้าอาจมีโอกาสที่จะถูกล้างสมอง (brainwash) เมื่อเสพชุดข้อมูลความเชื่อที่บิดเบือนหรือข่าวลวง (fake news) อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ผู้สูงวัยยังเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่ออาชญากรรมออนไลน์ (cybercrime) เนื่องจากความรู้ไม่เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพสมัยใหม่ที่มาในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดความรู้สึกสงสาร เห็นใจ อยากช่วยเหลือ หรืออยากลงทุนเพื่อผลกำไรขนาดใหญ่ จึงมีโอกาสถูกหลอกลวงให้เสียทรัพย์สินหรือกระทั่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ การที่ผู้สูงวัยใช้สื่อออนไลน์มากเกินไปยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ (physical and mental illnesses) รวมทั้งคุณภาพชีวิต เพราะหมกมุ่นอยู่แต่การทำกิจกรรมเดียวเป็นเวลานาน ๆ  ไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูงลดลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว (social isolation) และแปลกแยก (social segregation) จากสังคมในที่สุด

กลไกทางการตลาดที่ไร้ “ธรรมาภิบาล” เหล่านี้ยังสร้างผลกระทบด้านลบในระดับสังคมและประเทศ ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ผีเสื้อขยับปีก (butterfly effect) ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศซึ่งเป็นผลมาจากขาดความรู้เท่าทันสื่อ และหลงเชื่อ “ความจริง” ที่ถูก “จัดฉาก” หรือ“ผลิตซ้ำ” ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองและทางสังคม (polarization) ความรุนแรงและการแก้ไขความขัดแย้งด้วยกำลัง (outrage) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพของประชากรและการพัฒนาประเทศโดยรวม ผู้สูงวัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการติดอาวุธทางปัญญาในการวิเคราะห์กลั่นกรองข้อมูลที่ถูกป้อนหรือยัดเยียดให้บริโภคผ่านสื่อออนไลน์เหล่านี้

 การกรองด้วยตะแกรงแห่ง “สติ”: อยู่อย่างเข้าใจ รู้ทันสื่อ(ใหม่)พหุวิถี

แม้จะมีกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาสื่อออนไลน์เหล่านี้แสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรมและเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการแสวงหาผลประโยชน์จากประชาชน แต่ก็ยังไม่เกิดแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่อออนไลน์ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราต้องยอมรับว่าแม้โลกจะอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีนำการสื่อสาร แต่กลไกควบคุมทางคุณธรรมและจริยธรรมสื่อยังปรับตามไม่ทัน เส้นแบ่งความ “ผิด” “ชอบ” “ชั่ว” “ดี” “จริง” หรือ “ปลอม” ซึ่งเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องตัวเองจากการถูกใช้ประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว จึงเป็นเพียงเส้นจาง ๆ ที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและการรู้เท่าทันสื่อของ “ผู้(ใช้)สื่อ” และ “ผู้รับสาร”เท่านั้น

ทั้งนี้หากมองในแง่งามของชีวิต ผู้สูงวัยคือผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง ยาวนาน มีมุมมองต่อโลกที่กว้างขวาง มีความคิดเชิงวิเคราะห์ หลักตรรกะเหตุและผลในระดับที่ได้เปรียบคนกลุ่มอื่น ๆ ดังสำนวนไทยที่กล่าวว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” มากไปกว่านั้นการที่สังคมไทยยังมีหลักคิดและการปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่ดำรงอยู่และสามารถปฏิบัติตามเพื่อเห็นผลได้อย่างยั่งยืนจึงถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญหากผู้สูงวัยจะนำต้นทุนเหล่านี้มาลับคมเพิ่มพูนทักษะการรู้เท่าทันสื่อของตนด้วยแนวปฏิบัติที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง

การรู้เท่าทันเล่ห์กลของสื่อใหม่ด้วยตะแกรงแห่ง “สติ” ซึ่งมักมาคู่กับคำว่า “สัมปชัญญะ” ในทางพุทธศาสนา นั่นคือการรู้ตัวทั่วพร้อม และมี “ตัวเตือน” ในขณะ “รับสาร” “ตีความ” และ “สื่อสาร” เมื่อมีสิ่งใดมากระทบอายตนะภายนอก เช่น ตามองเห็นภาพถ่าย (images) ชมคลิปวิดิโอ (video clips) หรือหูฟังเพลงจากสตรีมมิ่ง (online streaming) พอตแคสต์ (podcast) หรือหนังสือเสียง (audio books) สืบค้นข้อมูลทางเวบไซต์ด้วยเสียง (voice dictation) พิมพ์ข้อมูลใด ๆ เพื่อโต้ตอบทางออนไลน์ (online chatting) หรือกดคลิกทำธุรกรรมทางการเงิน (cyber-money) ให้กำกับตนด้วยตะแกรงแห่ง “สติ” โดย 1) คิดเชิงวิเคราะห์ (think critically) และตั้งคำถามเชิงวิพากษ์กับตนเอง เช่น ใครสร้างหรือผลิตสื่อนี้ วัตถุประสงค์คืออะไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร ใช้เทคนิคสื่อสารใดเพื่อโน้มน้าวหรือทำให้เนื้อหาสื่อนี้น่าเชื่อถือ เนื้อหานี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไร มีผลอย่างไรกับเรา เป็นต้น (2) เป็นผู้รอบรู้ (become a smart audience) ก่อนตัดสินใจเชื่อหรือสื่อสารเรื่องใดออกไป เราควรหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างรอบด้าน ไม่ปิดกั้นตนเองอยู่ในโลกที่มีแต่ข้อมูลด้านเดียว หาข้อมูลในด้านที่มีจำกัดหรือยังไม่มีการเปิดเผย เพื่อรู้เท่าทันปรากฏการณ์นั้น ๆ  อย่างลึกซึ้งและเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจและสื่อสารบนฐานข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านมากที่สุด (3) สื่อสารอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ (create media responsibly) สุดท้ายคือการใช้ สติ ปัญญาในการไตร่ตรอง กลั่นกรอง เลือกสรร ว่าข้อมูลหรือเนื้อหาใดเป็นสาระ น่าเชื่อถือ หรือเป็นประโยชน์ โดยเลือกใช้องค์ประกอบในการสื่อสารเพื่อผลิตเนื้อหาและเลือกใช้เครื่องมือการสื่อสารให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ บริบท และสถานการณ์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

การเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ(ใหม่)ของผู้สูงวัยในยุคการสื่อสาร “พหุวิถี” อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทย ที่ผู้สูงวัยจะไม่เป็นเพียง “ผู้(ใช้)สื่อ” และ “ผู้รับสาร” ที่ไม่รู้เท่าทันและถูกควบคุมหรือใช้ประโยชน์โดยสื่อ(ใหม่)อีกต่อไป แต่สามารถเปลี่ยนเป็น“ตัวแสดงสำคัญ” ในฐานะ “นักสื่อสาร” ที่มีคุณภาพบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ในการพลิกเอาต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีความเข็มแข็ง เพื่อผ่องถ่ายองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ประสบการณ์และบทเรียนที่ตกผลึก มาสร้างวาทกรรมในพื้นที่สื่อสารกระแสหลัก เพื่อเป็นประโยชน์และสร้างปัญญาแก่ผู้อื่น ทั้งที่ในรูปแบบการฟัง (สุตมยปัญญา) การอ่าน (จินตมยปัญญา) และปัญญาจากการปฏิบัติ (ภาวนามยปัญญา) ดังที่กล่าวว่า “สื่อสร้างสิ่งที่ฝังรากลึกในความเชื่อสังคมและวัฒนธรรมของเรา” การติดอาวุธทางปัญญาในการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงวัยจะย้อนกลับมาติดอาวุธทางปัญญาให้กับคนกลุ่มอื่น ๆ เพื่อความเข็มแข็งและยั่งยืนของสังคมไทยต่อไป

ผู้เขียน ดร.เพียงชนม์ ราษฎร์ดุษฎี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

รายการอ้างอิง

  1. Adami, E., & Ramos, S. (2020). Meaning-(re)making in a world of untranslated signs: Towards a Research Agenda on Multimodality, Culture, and Translation. In Boria M., A. Carreres, Noriega-Sánchez, M. & Tomalin, M. (Eds.), Translation and Multimodality: Beyond Words. (pp.71-93). Routledge.
  2. Kemp, S. (2022). Digital 2022: Thailand. Datareportalhttps://datareportal.com/reports/digital-2022-thailand
  3. Carvalho, J. C., Cipolli, G. C., Alonso V., & Cachioni, M. (2021). Digital Media Use Among Older Adults During the Covid-19 Pandemic: A Scoping Review Protocol.Research, Society and Development, 10(12), e520101220916. https://doi.org/10.33448/rsd-v10i12.20916
  4. อัญมณี ภักดีมวลชน. (2564). พฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชั่นไลน์กับการรู้เท่าทันข่าวลวงของผู้สูงอายุในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่.มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่: เชียงใหม่. http://cmruir.cmru.ac.th/handle/123456789/2256
  5. Orlowski, J. (2022). The Social Dilemma. Exposure Labs: https://www.netflix.com
  6. Slavkovik, M., Stachl, C., Pitman, C., & Askonas, J. (2021). Digital Voodoo Dolls Conference: AIES ’21: AAAI/ACM Conference on AI, Ethics, and Society.,967-977. https://www.researchgate.net/publication/353603454_Digital_Voodoo_Dolls
Scroll to Top