สื่อเก่ากับสื่อดิจิทัล: บทบาทที่ต่างกันสำหรับผู้สูงวัย

สื่อดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและได้รับความสนใจจากคนหลายรุ่น ในปัจจุบัน สื่อใหม่เหล่านี้เริ่มมีเนื้อหาโยงเข้าสู่ความสนใจหรือตามลักษณะนิสัยของผู้สูงอายุมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและขาดความรู้ด้านการใช้สื่อที่เพียงพอเพื่อเปิดโลกการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น หรือขยายโอกาสการมีส่วนร่วมในสังคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราในฐานะพลเมืองของสังคมจะหันมาให้ความสนใจในการอภิปรายถึงสื่อเก่าและสื่อดิจิทัลที่มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นด้านโอกาส หรือความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลในด้านต่าง ๆ

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต อาจไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต หรือเคยใช้อินเทอร์เน็ตแต่หยุดการใช้งานไปด้วยเหตุผลบางประการ หลายคนต่างเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางและเครือข่ายเชื่อมโยงคนให้ใกล้ชิดกัน โลกอินเตอร์เน็ตประกอบไปด้วยสื่อที่หลากหลาย มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และกิจกรรมต่าง ๆ ให้เลือกสรร เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ การค้นหาข้อมูล และการบริการจากภาครัฐและเอกชนที่พัฒนาไปอยู่บนรูปแบบแพลตฟอร์มมือถือ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้สูงวัยมีความจำเป็นในการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตมากขึ้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่า สื่อเก่า เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ยังมีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าสื่อใหม่อย่างสื่อดิจิทัลหรือไม่

มีรายงานฉบับหนึ่งของ Eurobarometer ในสหภาพยุโรป พบว่า การดูโทรทัศน์ยังคงเป็นกิจกรรมด้านสื่อมวลชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุโรป โดยมีพลเมืองของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อายุ 15 ปีขึ้นไป) มากถึงร้อยละ 81 ยังติดตามรายการทางโทรทัศน์ทุกวันใน ค.ศ. 2017 สัดส่วนนี้ยังคงเพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งสูงที่สุด (ร้อยละ 92) ในหมู่ชาวยุโรปที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ในขณะที่ในแคนาดา การดูโทรทัศน์ก็เพิ่มขึ้นตามอายุเช่นกัน โดยใน ค.ศ. 2015 มีอัตราการดูทีวีสูงสุด (ร้อยละ 86) ซึ่งอยู่ในกลุ่มชาวแคนาดาที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป เพราะใช้เวลาโดยเฉลี่ย 4.3 ชั่วโมงต่อวันในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโทรทัศน์ แต่ในทางตรงกันข้าม การดูโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (TV on demand) กลับเป็นกิจกรรมทางสื่อที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด (ร้อยละ 5) ในหมู่ชาวยุโรปที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป กระนั้นก็ตาม การดูโทรทัศน์ออนไลน์เริ่มค่อย ๆ กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่ชาวยุโรป1

Eurobarometer ยังให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการบริโภคสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุในยุโรปต่อไปอีกว่า แนวโน้มโดยรวมของผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายวันได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 38 เป็นร้อยละ 28 ระหว่าง ค.ศ. 2010 ถึง 2017 ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของผู้ที่ไม่ได้เปิดรับสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 20 ใน ค.ศ. 2019 โดยชาวยุโรปที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปเป็นผู้บริโภคสื่อสิ่งพิมพ์บ่อยที่สุด ในขณะที่สัดส่วนของชาวยุโรปที่ฟังวิทยุในแต่ละวันยังคงค่อนข้างคงที่ โดยอยู่ที่ร้อยละ 50 ใน ค.ศ. 20171

นักวิชาการจากอิตาลีชื่อริโวลเตลลาอธิบายว่า เราสามารถอธิบาย “การรู้เท่าทันสื่อ” ซึ่งหมายถึงการรู้เท่าทันสื่อในระบบดิจิทัลใหม่ ๆ ที่จำเป็น ได้อย่างน้อย 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านวิพากษ์ ด้านสุนทรียภาพ และด้านจริยธรรม2
– มิติด้านการวิพากษ์ คือการพยายามเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงและความเข้าใจรูปแบบวัฒนธรรมที่ผูกติดอยู่กับสื่อนั้น ๆ ตลอดจนแสดงถึงความต่อเนื่องระหว่างการรู้ใหม่ ๆ ที่มากับสื่อ ไม่ว่าจะสื่อดั้งเดิมหรือสื่อใหม่ เพื่อคิดพิจารณาและวิพากษ์เนื้อหาทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสื่อต่าง ๆ

– มิติด้านสุนทรียภาพ คือการเชื่อมโยงกับแนวคิด “ความงาม” หรือรูปแบบการทำให้สื่อดูถูกตาต้องใจ เป็นความงามตามผลิตภัณฑ์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ แต่ “ความงาม” นี้เองกลับกลายเป็นเรื่องของการปกปิดความจริง ในรูปแบบของสื่อใหม่ที่หลากหลาย เป็น “ความงาม” อันฉาบฉวยที่อาจทำให้ผู้ใช้สื่อไม่รู้เท่าทัน
– มิติด้านจริยธรรม มีองค์ประกอบเพิ่มเติมอีก 2 ประการ ได้แก่ ความรับผิดชอบและการต่อต้าน ซึ่งทั้งสองประการนี้เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของสื่อพลเมืองผ่านระบบดิจิทัล โดยถือเป็นประเด็นความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นจากการมีอำนาจในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่เชื่อมโยงกับการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะในฐานะสังคมที่เปิดรับข้อมูลอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เมื่อสื่อใหม่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถผลิตข้อมูลข่าวสารในสื่อเองได้ ผู้ผลิตเหล่านี้ต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ผลิตขึ้นโดยไม่มีองค์กรแบบดั้งเดิมควบคุม ส่วนผู้รับสารก็ต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่ง พร้อม “ต่อต้าน” อยู่ในตัว เป็นการต่อต้านที่จะไม่รับสิ่งใหม่โดยไม่ไตร่ตรองไว้ก่อน (ซึ่งเชื่อมโยงกับมิติที่ 1 และ 2)

มิติการรู้เท่าทันสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ หากเชื่อมโยงกับสถิติของ Eurobarometer จะพบว่า มีส่วนเกี่ยวโยงกันอย่างชัดเจน เพราะหากผู้สูงวัยมิได้ตระหนักถึงมิติทั้งหลายในสื่อเก่าและสื่อใหม่ ก็อาจทำให้ตัวเลขของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นในการใช้สื่อใหม่ อาจประสบปัญหาในการเข้าใจสื่ออย่างถูกต้อง เสพสื่ออย่างถูกวิถี และส่งต่อสื่อให้กับคนรุ่นถัดไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการใช้สื่อแบบดั้งเดิมและสื่อใหม่ของผู้สูงวัยในกลุ่มประเทศในยุโรป 9 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม โครเอเชีย เดนมาร์ก เยอรมนี ฮังการี อิตาลี โปแลนด์ โปรตุเกส และอิสราเอล (เพิ่มเติมจากโซนยุโรป)3 ผลวิจัยพบว่า แนวโน้มการใช้สื่อแบบดั้งเดิมอาจอธิบายได้จากการเปิดรับนวัตกรรมของผู้อาวุโสที่อยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มอายุอื่น การวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคแสดงให้เห็นว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงวัยมักจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ตัดสินใจเลือกนำเทคโนโลยีหรือบริการในแบบใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยกลุ่มผู้สูงวัยนี้จะยอมรับแนวปฏิบัติใหม่ก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าจะได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้เท่านั้นอย่างแท้จริง ในส่วนของผู้ใช้สื่อใหม่ที่เป็นผู้สูงอายุเลือกใช้งานอินเทอร์เน็ตเพราะต้องการเข้าถึงตัวเลือกการใช้ชีวิตใหม่ ๆ และต้องการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกสมัยใหม่ กระนั้นก็ดีแม้กลุ่มผู้สูงวัยจะเริ่มคุ้นเคยกับแนวทางปฏิบัติในสื่อแบบใหม่มากขึ้น (เช่น การใช้งานอีเมลหรือเครื่องมือค้นหาทางอินเตอร์เน็ตต่าง ๆ) แต่ก็ยังไม่รู้สึกว่าจะตนได้รับประโยชน์จากสื่อเหล่านี้เท่าที่ควร นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการขาดแรงจูงใจ ไม่ไว้ใจสื่อใหม่ หรือความรู้ด้านสื่อไม่เพียงพอ ตลอดจนข้อจำกัดทางร่างกาย อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ใช้สื่อสูงวัยกลุ่มนี้มีแนวทางการใช้สื่อไม่เหมือนกันทั้งหมด โดยมีความแตกต่างกันไปตามภูมิหลังทางสังคมวัฒนธรรมและสิ่งที่ชอบทำในยามว่าง

งานวิจัยอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นการศึกษาการใช้สื่อใหม่ของกลุ่มผู้สูงวัยในหลายประเทศ ผ่านการประสานงานโดยมหาวิทยาลัยคอนคอร์เดีย ประเทศแคนาดา4 ข้อมูลชุดแรกในงานวิจัยนี้รวบรวมโดยผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปใน ค.ศ. 2016 และชุดที่สองในอีกสองปีต่อมา ข้อมูลชุดนี้รวบรวมจากออสเตรีย แคนาดา อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ โรมาเนีย สเปน และฟินแลนด์ ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุในแต่ละประเทศมีมุมมองและแนวทางการใช้สื่อในแต่ละ ‘ยุค’ ต่างกัน  งานวิจัยเสนอว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งมักถูกสื่อกระแสหลักนำเสนอ พร้อมกับการมาถึงของเทคโนโลยีสื่อใหม่ ๆ นั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ตามช่วงวัยร่วมกันของคนในประเทศนั้น ๆ เนื่องจากการสร้างอัตลักษณ์ตามช่วงวัยต้องใช้เวลา กลุ่มผู้สูงอายุจึงถือว่ามี “ความรู้สึกนึกคิด” ต่อปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่งแบบแข็งแกร่งกว่าคนรุ่นหลัง นอกจากนั้น ความผูกพันกับเทคโนโลยีในแต่ละยุค ยังเป็นตัวชี้ว่าเหตุใดผู้สูงอายุมักยึดติดกับสื่อแบบเดิม และการใช้สื่อดิจิทัลและการสื่อสารผ่านชุมชนออนไลน์มักผกผันตามอายุ

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างอายุและเพศในประเด็นการใช้แพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลต่าง ๆ อีกหลายประการ ประการแรก การดูทีวีผ่านคอมพิวเตอร์มีความแตกต่างจากการดูทีวีตามปกติ แต่เฉพาะเรื่องการใช้เวลาเท่านั้น กลุ่มตัวอย่างผู้ชายจะดูทีวีโดยใช้คอมพิวเตอร์มากกว่าผู้หญิง โดยช่องว่างทางเพศนี้ จะเพิ่มขึ้นตามอายุของกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัย ประการที่สอง ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะอ่านข่าวทางอินเทอร์เน็ตมากกว่าผู้หญิง ความแตกต่างทางเพศนี้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้งานที่มีอายุประมาณ 65 ปี แต่ค่อนข้างคงที่ในผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุสูงกว่านั้น กระนั้นก็ดี ผู้ชายยังใช้เวลากับการอ่านข่าวออนไลน์มากกว่าผู้หญิง แต่ช่องว่างระหว่างเพศนี้จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัย จนไม่มีนัยสำคัญอีกต่อไปในกลุ่มผู้สูงวัยอายุเกินกว่า 75 ปี ประการที่สาม ความแตกต่างทางเพศในประเด็นการใช้เวลาในการอ่านหนังสืออีบุ๊กนั้น ค่อนข้างตรงกันข้ามกับสื่อดิจิทัลประเภทอื่น แต่มีความคล้ายกับการอ่านหนังสือแบบปกติ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่อ่านหนังสืออีบุ๊กมากกว่าผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางเพศเหล่านี้มีนัยสำคัญเฉพาะในช่วงวัยกลางคน แต่ลดลงในกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นผู้สูงวัย กล่าวคือ ผู้สูงวัยทั้งชายและหญิงมีการใช้เวลาในการอ่านหนังสือออนไลน์ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

จากงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้สื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ข้างต้นในกลุ่มผู้สูงอายุทั่วโลก เราจะเห็นได้ว่า ผู้สูงวัยยังค่อนข้างปรับตัวได้ช้าในการเข้าสู่โลกออนไลน์ สื่อใหม่ไม่ได้ทำให้เกิดความต้องการที่จะใช้งานหรือกระตุ้นให้ผู้สูงวัยอยากลองสิ่งใหม่ เนื่องจากปัจจัยหลากหลาย ไม่ว่าจะสังคมวัฒนธรรม การเข้าถึงสื่อ หรือกระทั่งความกลัว เพราะไม่รู้จักสื่อใหม่ว่าเป็นอย่างไร

สิ่งนี้เองจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาในกลุ่มผู้สูงวัยในสังคมไทยว่ามีการปรับตัวเข้าสู่สื่อใหม่อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และเป็นแนวทางในการให้ผู้สูงวัยเองในการตั้งคำถามกับตนเองถึงนัยและประโยชน์ของการใช้สื่อใหม่ และเทคโนโลยีที่ตามมากับการใช้สื่อใหม่ประเภทต่าง ๆ ว่ามีผลกระทบต่อตนเองมากน้อยเพียงใด เพื่อในท้ายที่สุดแล้ว จะได้เลือกปรับใช้ให้ตรงกับ “ศักยภาพ” ในการใช้สื่อของตนเองอย่างเหมาะสม

โดยกองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2565

รายการอ้างอิง

  1. Eubarometer. (2017). Media use in the European Union. https://op.europa.eu/en/publication-detail/-/publication/a575c1c9-58b6-11e8-ab41-01aa75ed71a1
  2. Rivoltella, P.C. (2020). Nuovi Alfabeti. Bresci, as cited in Carenzio, A., Ferrari, S., & Rasi, P. (2021). Older people’s media repertoires, digital competences and media literacies: A case study from Italy. Education Sciences, 11(10), 584. https://doi.org/10.3390/educsci11100584
  3. Nimrod, G. (2017). Older audiences in the digital media environment. Information, Communication & Society, 20(2), 233-249. https://doi.org/10.1080/1369118X.2016.1164740
  4. Taipale, S., Oinas, T., & Karhinen, J. (2021). Heterogeneity of traditional and digital media use among older adults: A six-country comparison. Technology in Society, 66, 101642. https://doi.org/10.1016/j.techsoc.2021.101642
Scroll to Top