ความเชื่อในเรื่องโชคลางในช่วงสถานการณ์โควิด-19: ผลกระทบต่อผู้สูงวัย

ความเชื่อในเรื่องโชคลางนั้นแสดงออกในสังคมมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นเวลาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเลข สี วันพิเศษ เหตุการณ์พิเศษ หรือสัตว์พิเศษบางชนิดมักถูกมนุษย์มองว่าชั่วร้าย บางครั้งผู้คนมีความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์มากนักเพราะยึดถือความเชื่อที่โยงกับศาสนา กล่าวคือความเชื่อในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ยังคงอยู่กับมนุษย์แม้จะมีความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการมากแล้ว1

มีการศึกษาพบว่า ความเชื่อโชคลางอาจเป็นอันตรายต่อการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยของการป้องกันโควิด-19 เนื่องจากบางคนเชื่อว่าโรคนี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หากบูชาสิ่งของที่ตนคิดว่าศักดิ์สิทธิ์2  นอกจากนี้ ยามที่คนเราไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ก็มักหันไปพึ่งวิธีแก้ปัญหาด้วยความเชื่อโชคลาง เนื่องจากหวาดระแวงผู้อื่นและสังคมภายนอก จึงใช้ชีวิตอย่างตื่นตัวตลอดเวลา สภาวะที่คล้ายกับสภาวะการตื่นตัวของผู้คนในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ซึ่งแม้ว่าสื่อหลายแขนงได้นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้คนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 ในหลายแง่มุมอย่างเด่นชัด รวมถึงจากประเด็นทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการสร้างภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อ หรือการจัดหาวัคซีน3 กระนั้นเอง ความเชื่อในเรื่องโชคลางจึงทำให้ผู้คนพลอยหวาดกลัว หรือในบางกรณีก็ไม่เชื่อว่าจะมีการระบาดมาถึงตนเพราะมีของเครื่องลางเพื่อปกป้องตนเองดีแล้ว

กระนั้นก็ดี ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายในช่วงการระบาด ส่งผลต่อด้านจิตวิทยาจนนำมาซึ่งทฤษฎีสมคมคิด (conspiracy) หรือความเชื่อโชคลางกับความตายในกลุ่มเปราะบาง เช่น ชุมชนสูงวัย ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนเชิงนโยบายที่ดี เพื่อป้องกันการตัดสินใจที่ผิดพลาดด้านสุขภาพ จนส่งผลกระทบต่อคนหมู่มากได้4  โดยในเบลเยียมและสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อที่งมงาย อำนาจที่ควบคุม และความรู้สึกเสี่ยงต่อโควิด-19 โดยพบว่า ในเบลเยียมนั้น ความเชื่อโชคลางไม่เด่นชัด และบุคคลมีระดับของอำนาจในการควบคุมจิตใจที่สูง แต่ในอเมริกานั้น ความเชื่อเรื่องโชคลางสูง แต่มีอำนาจในการควบคุมในจิตใจซึ่งสัมพันธ์ความเชื่อโชคลางในระดับที่ผกผัน จนทำให้เกิดความรู้สึกที่รุนแรงมากขึ้นว่ามีความเสี่ยงต่อโควิด-19 ซึ่งอาจอธิบายได้จากความแตกต่างทางวัฒนธรรม เช่น ชาวเบลเยียมมักเลี่ยงความไม่แน่นอนในชีวิตประจำวันมากกว่าชาวอเมริกันในกลุ่มที่ศึกษา5

การศึกษาในทวีปแอฟริกาพบว่า ประเทศในแอฟริกาส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการป้องกับโควิด-19 ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องโชคลางเช่นกัน เช่น การเข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับดื่มซึ่งอาจส่งผลต่อสุขอนามัย ระดับความยากจนที่สูง ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในการเว้นระยะห่างทางสังคม การขาดแคลนหน้ากากอนามัยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยทางเดินหายใจและการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ไม่มากส่งผลต่อการทดสอบผลโควิด-19 การแยกตัว การกักตัว และการติดตามผู้เสี่ยงสัมผัส ที่สำคัญคือ ข้อบกพร่องทั้งหมดเหล่านี้มีความเชื่องมงายเกี่ยวกับโควิด-19 แฝงเร้นอยู่ในทุกระดับ นับตั้งแต่ในหมู่บ้านและชุมชน ทำให้ประชาชนละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-196

สำหรับการศึกษาในอินเดีย มีการศึกษาพิธีกรรมในชนบทซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องโชคลางเพื่อป้องกันโควิด-19 โดยจากการสัมภาษณ์หญิงสาวในชนบทรายหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงพิธีกรรมซึ่งเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์และส่งต่อมาจากญาติ โดยบอกว่า ต้องจุดเทียนโคมให้ครบจำนวนพี่น้องและเทน้ำหลาย ๆ ถังลงในบ่อน้ำ เมื่อทำทั้งหมดนี้แล้วจะช่วยป้องกันครอบครัวจากโรคร้ายได้ หรือผู้รับการสัมภาษณ์อีกรายหนึ่งกล่าวว่า มีคนให้ตนไปหาเส้นผมประเภทหนึ่งมาบูชา ซึ่งเรียกว่า ขนหนุมาน โดยการจุ่มเส้นผมนั้นกับน้ำมนต์แล้วประพรมไปทั่วบ้าน โควิด-19 ก็จะไม่กล้ากล้ำกลายเข้ามาในบริเวณบ้าน หรือบางรายคิดว่า โรคโควิด-19 เป็นการลงทัณฑ์จากพระเจ้าที่โกรธแค้นมวลมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในอินเดียอย่างกว้างขวาง7

ในหลาย ๆ กรณีข้างต้น ผู้สูงวัยถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่จะเชื่อเรื่องโชคลางที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 มากที่สุด เนื่องจากมีอัตราการเปิดรับข่าวสารจากโลกเทคโนโลยีน้อยกว่าคนหนุ่มสาว แม้กระทั่งในกรณีของประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม ดังนั้น การเปิดให้ผู้สูงวัยได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น อาจมีส่วนช่วยขจัดความรู้สึกกังวลอันเป็นบ่อกำเนิดความเชื่อในเรื่องโชคลางจากจิตใจตนเองได้ เนื่องจากมีตัวเปรียบเทียบในเชิงข้อมูล และนำมาพิจารณากับอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงปลอดภัยของตนที่เกิดจากโรคร้ายคุกคาม

โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 9 มกราคม 2566

รายการอ้างอิง

  1. Risen, J. L. (2016). Believing what we do not believe: Acquiescence to superstitious beliefs and other powerful intuitions. Psychological Review, 123(2), 182. https://psycnet.apa.org/doi/10.1037/rev0000017
  2. Amoah, C., & Simpeh, F. (2020). Implementation challenges of COVID-19 safety measures at construction sites in South Africa. Journal of Facilities Management, 19 (1), 111-128.
  3. Feng, L. S., Dong, Z. J., Yan, R. Y., Wu, X. Q., Zhang, L., Ma, J., & Zeng, Y. (2020). Psychological distress in the shadow of the COVID-19 pandemic: Preliminary development of an assessment scale. Psychiatry Research, 291, 113202. https://doi.org/10.1016/j.psychres.2020.113202
  4. Jafarnezhad Dehmiani, M., Fanisaberi, L., Asadollahi, A., Bakht Abnoos, A., & Abyad, A. (2022). Conspiracy Illusion, Superstitions, and Death Anxiety of Older Adults Who Refused Covid-19 Vaccination in Iran: A Cross-Sectional Study on Their Beliefs. OMEGA – Journal of Death and Dying, 00302228221127492. https://doi.org/10.1177/00302228221127492
  5. Hoffmann, A., Plotkina, D., Roger, P., & D’Hondt, C. (2022). Superstitious beliefs, locus of control, and feeling at risk in the face of Covid-19. Personality and Individual Differences, 196, 111718. https://doi.org/10.1016/j.paid.2022.111718
  6. Ayenigbara, I. O., Adeleke, O. R., Ayenigbara, G. O., Adegboro, J. S., & Olofintuyi, O. O. (2020). COVID-19 (SARS-CoV-2) pandemic: fears, facts and preventive measures. Germs, 10(3), 218. https://doi.org/10.18683%2Fgerms.2020.1208
  7. Dutta, A. (2020). Superstitions during COVID-19. Transparency Review. August, 2020, 9-12.
Scroll to Top