ผู้สูงวัยกับวิทยุ: วันเก่าที่ยังจดจำ

ผู้สูงอายุมีประสบการณ์ชีวิตและความทรงจำมากมาย วิธีการสื่อสารอย่างหนึ่งที่ดึงวันเก่าที่ยังจำได้ให้ระลึกถึงขึ้นมา คือวิทยุ สำหรับวิทยุแล้ว ช่องทางการสื่อสารนี้ทำหน้าที่เป็นสื่ออันทรงพลัง ไม่เพียงให้ความบันเทิง แต่ยังกระตุ้นความคิดถึงวันเก่า ๆ อีกด้วย ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว คนรุ่นใหม่มักมองข้ามผลกระทบของวิทยุที่มีต่อชีวิตของผู้สูงอายุ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุ วิทยุ และความคิดคำนึงถึงอดีต มีนัยต่อการทำความเข้าใจถึงอิทธิพลของวิทยุที่มีต่อคนรุ่นก่อน หากเราหวนมองความสำคัญของวิทยุ บางทีเราจะสามารถส่งเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างรุ่น อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุในสังคมไทยผ่านการสื่อสารทางวิทยุย้อนสมัยได้เช่นกัน

อันที่จริงแล้ว วิทยุมีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้สูงอายุไทยมาหลายทศวรรษ ทำหน้าที่เป็นหน้าต่างสู่โลกภายนอก แหล่งความบันเทิง ก่อนการกำเนิดของโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต วิทยุเป็นแหล่งรับข่าวสารหลัก ฟังดนตรี และเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยง เชื่อมช่องว่างระหว่างพื้นที่ห่างไกลกับใจกลางเมืองของประเทศไทยในอดีต1 รายการวิทยุ เช่น รายการข่าว ละครวิทยุ หรือแม้แต่การพูดคุยอย่างทอล์คโชว์ เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุในพื้นที่ห่างไกลเมืองรอคอยอย่างใจจดใจจ่อในฐานะเพื่อนยามเหงา

ความคิดถึงกับความโหยหาอดีตที่มักเกิดขึ้นจากรายการวิทยุ มีความสำคัญทางอารมณ์กับผู้สูงอายุไทยอย่างลึกซึ้ง วิทยุอาจนำเสนอเพลงและเสียงที่คุ้นเคยจากวัยเยาว์ทำให้ความทรงจำหวนคืนมา สร้างความรู้สึกสบายใจ สำหรับผู้สูงอายุหลาย ๆ คน วิทยุทำหน้าที่เป็น “ไทม์แมชชีน” เพื่อพาตนเองย้อนกลับไปสู่ยุคอดีต ความคิดถึงที่มีผลกระทบอย่างมากต่อความผาสุกทางจิตใจ เพราะช่วยแก้เหงา การซึมเศร้า และความโดดเดี่ยวทางสังคมที่มักมาพร้อมกับวัยชรา2 การได้มีโอกาสดำดิ่งสู่ประสบการณ์แห่งความคิดถึงผ่านทางวิทยุนี้เอง อาจทำให้ผู้สูงอายุค้นพบตัวตนอีกครั้ง เช่น ย้อนคิดถึงกิจกรรมสมัยเป็นหนุ่มเป็นสาวผ่านรายการเพลงยุคเก่า นี่เองคือการเชื่อมโยงความหมายของการใช้ชีวิตในปัจจุบันกับอดีตของผู้สูงวัยแต่ละคน

ในด้านส่วนตัวนั้น แม้วิทยุจะถือเป็นสื่อเก่า แต่ก็ยังมีประโยชน์ให้ระลึกถึงวันวานได้หลายประการ3,4 ประการแรก คือการเข้าถึง เนื่องจากวิทยุยังคงเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้สูงอายุที่อาจไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ วิทยุมีจำหน่ายทั่วไปและมีราคาย่อมเยา โดยมิต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคมากมายในการใช้งาน หรืออาจฟังผ่านมือถือที่ผู้สูงอายุบางคนพอจะสามารถเข้าถึงได้

ประการที่สอง คือรับฟังข้อมูลและข่าวสาร วิทยุกระจายเสียงเป็นแหล่งข้อมูลและข่าวสารที่มีคุณภาพสำหรับผู้สูงอายุ ช่วยให้ติดตามข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน พยากรณ์อากาศ คำแนะนำด้านสุขภาพ และข่าวชุมชนท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และเหมาะกับผู้สูงวัยที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

ประการที่สาม คือการเป็นเพื่อนผู้ให้ความบันเทิง วิทยุทำหน้าที่เป็นเพื่อนคู่ใจสำหรับผู้สูงอายุได้จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ตามลำพังหรือในพื้นที่ชนบทห่างไกล ให้ความบันเทิงผ่านเสียงเพลง เรื่องเล่า หรือบทสัมภาษณ์ ซึ่งสามารถขจัดความเหงาและความโดดเดี่ยวได้

ประการที่สี่ คือเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายการวิทยุมักนำเสนอเนื้อหารายการที่ชักจูงความสนใจ โดยให้คำแนะนำด้านสุขภาพอันเป็นประโยชน์ เช่น การออกกำลังกาย เคล็ดลับสุขภาพจิตที่ดี ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับบริการในท้องถิ่น ซึ่งผู้สูงวัยที่รับสื่ออาจนำไปปฏิบัติต่อได้ จนกระทั่งเกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด

นอกจากนี้ วิทยุยังสามารถอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงระหว่างรุ่นและเชื่อมช่องว่างในการสื่อสารระหว่างผู้สูงอายุกับคนรุ่นใหม่ การพูดคุยรายการวิทยุที่ชื่นชอบ แม้กระทั่งเล่าเรื่องราวในวัยเยาว์ของผู้สูงวัยให้ลูกหลานฟัง ผู้สูงอายุอาจมีส่วนร่วมในการสนทนากับลูกหลานผ่านการฟังรายการวิทยุร่วมกัน จากนั้นก็แลกเปลี่ยนความคิด สิ่งนี้เองไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตของผู้สูงอายุไทยดีขึ้น แต่ยังส่งเสริมความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจในหมู่กลุ่มวัยหนุ่มสาวอีกด้วย

ในด้านสังคมที่กว้างออกไปจากระดับตัวผู้สูงวัยหรือชุมชนใกล้เคียง เราจะเห็นได้ว่า ในหลายประเทศ วิทยุทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภาษาให้สืบต่อยาวนานได้5 ในทำนองเดียวกัน วิทยุในประเทศไทยก็สามารถสืบสานเพลงไทย เรื่องราว และขนบธรรมเนียมประเพณีให้คงอยู่สำหรับคนรุ่นหลัง การมีส่วนร่วมกับรายการวิทยุที่มีเพลงพื้นบ้านดั้งเดิมและภาษาท้องถิ่น ทำให้ผู้สูงอายุสามารถส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมของตนไปยังลูกหลาน แบ่งปันประสบการณ์ระหว่างรุ่น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความผูกพันในครอบครัวและส่งเสริมความรู้สึกภาคภูมิใจในมรดกของตนเอง

ทั้งนี้ วิทยุถือเป็น “แหล่งความทรงจำอันแสนพิเศษ” ของผู้สูงอายุไทย เป็นแหล่งความบันเทิง ความคิดถึง และการอนุรักษ์วัฒนธรรม เราสามารถพัฒนาวิธีต่าง ๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ เพื่อต่อสู้กับความโดดเดี่ยวทางสังคม ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผ่านการเล่าเรื่องระหว่างรุ่นในรายการวิทยุ หรือการจัดรายการวิทยุชุมชนเพื่อแจ้งข่าวสารที่สำคัญในชุมชนนั้น ๆ

ด้วยพลังของวิทยุซึ่งย้อนให้ผู้ฟังระลึกถึงภาพเก่าวันก่อนนี้เอง เราจึงสามารผลักดันประสบการณ์และการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ และคงเป็นแหล่งบันเทิง ตลอดจนสร้างการรับรู้ร่วมกันได้ด้วยสื่อที่เข้าถึงง่ายที่สุดสื่อหนึ่งนั่นเอง

โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)
เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566

เอกสารอ้างอิง

  1. Elliott, P. W. (2007). Another radio is possible: community radio, media reform and social change in Thailand. [Doctoral thesis, University of Regina, Canada]. Our Space. https://ourspace.uregina.ca/handle/10294/3386
  2. Fleury, J., Sedikides, C., Wildschut, T., Coon, D. W., & Komnenich, P. (2022). Feeling safe and nostalgia in healthy aging. Frontiers in Psychology, 13, 973.
  3. Spence, P. R., Lachlan, K. A., McIntyre, J. J., & Seeger, M. (2009). Serving the public interest in a crisis: Radio and its unique role. Journal of Radio & Audio Media, 16(2), 144-159.
  4. Krause, A. E. (2020). The role and impact of radio listening practices in older adults’ everyday lives. Frontiers in Psychology, 11, 603446.
  5. Chikaipa, V. (2023). Preserving indigenous minority languages through community radio in development programmes in Malawi. Southern African Linguistics and Applied Language Studies. https://doi.org/10.2989/16073614.2022.2128382
Scroll to Top