ภัยอันตรายจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้สูงวัย

ประชากรโลกกำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลจากฝีมือมนุษย์ จนทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลที่ตามมาต่อสังคมและส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุอย่างเลี่ยงมิได้ ผลกระทบระหว่างกลุ่มประชากรสูงอายุกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะยังมองไม่เห็นชัดนัก หลายคนอาจได้ยินเกี่ยวกับผลกระทบที่ประชากรสูงวัยจะได้รับ ในประเด็นการใช้จ่ายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุข การบริการทางสังคม และเงินบำนาญ แต่ดูเหมือนว่า สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ได้รับการกล่าวถึงอย่างเพียงพอในวาระของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือความเปราะบางของผู้สูงอายุต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

ปัญหาที่ซับซ้อนของสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจำเป็นต้องได้รับการดำเนินการเป็นพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุอาจมีความเปราะบางต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีระของผู้สูงอายุ จนทำให้ไม่อาจทนต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษมากขึ้นในปัจจุบัน บางรายอาจมีโรคเรื้อรังและการใช้ยาเพื่อรักษาสภาพเหล่านั้น นอกจากนั้นปัจจัยอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม และภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุ ก็อาจส่งผลกระทบให้เกิดความเปราะบางมากขึ้นเช่นกัน ความเสี่ยงต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้สูงอายุอาจเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน แต่บางรายอาจเป็นผลมาจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีมาตั้งแต่อายุยังน้อย หรือผลจากการสัมผัสสารพิษสะสม เช่น สารปนเปื้อนในร่างกายเป็นเวลาหลายสิบปี1

อันตรายจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ผู้สูงวัยอาจประสบได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นเพราะสุขภาพร่างกายถดถอย ได้แก่ การสัมผัสสารมลพิษที่เป็นพิษในอากาศ น้ำ หรืออาหารเป็นเวลานาน ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางธรรมชาติอย่างกะทันหัน เช่น อากาศร้อน น้ำท่วม และพายุ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุมักมีความเสี่ยงด้านสุขภาพเป็นพิเศษจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ร่างกายของเราไม่สามารถรักษาตัวเองจากผลกระทบจากอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้เร็วเหมือนร่างกายวัยหนุ่มสาว ผู้สูงอายุมีภาวะสุขภาพที่ไวต่ออันตรายจากสภาพอากาศซึ่งอาจทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่แย่ลงได้ ผู้สูงอายุจำนวนมากมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว จึงเพิ่มความเสี่ยงเมื่อเกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน อายุที่มากขึ้นและยาบางชนิดอาจจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออากาศหนาวหรือร้อนจากภายนอกได้ไม่ดี สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากขึ้น ผู้สูงอายุจำนวนมากมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้เจ็บป่วยรุนแรงไม่ว่าจะเป็นแมลงและโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ซึ่งอาจพบได้บ่อยขึ้นเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง2

นอกจากนั้น สิ่งแวดล้อมทางกายภาพใกล้ตัวผู้สูงวัยก็อาจก่ออันตรายได้เช่นกัน การศึกษาหนึ่งพบว่า อันตรายที่ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบางอาจเกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวันปกติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร การเดินทางออกนอกบ้าน หรือแม้แต่การมีส่วนร่วมทางสังคมทั่วไป โดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมในละแวกที่อยู่อาศัยและกิจกรรมประจำวันที่ต้องใช้สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนเสริมอาจไม่ปลอดภัย เช่น ทางเดิน สถานที่จัดกิจกรรม เป็นต้น

การพัฒนาแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตผู้สูงวัย จึงควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการรักษาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้แก่ผู้สูงภัยด้วย ไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัยของคนเดินถนน การจัดการจราจร ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรโดยรวม หรือแม้แต่สุขอนามัยในบ้านตนเองหรือบ้านเช่าของผู้สูงอายุ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งแวดล้อมรอบตัวชั้นแรก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้สูงวัย นอกเหนือจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติโดยรวม3

เนื่องจากเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ความแข็งแรงทางร่างกายก็มักจะลดลง อ่อนแอ และเป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับอายุ การเคลื่อนไหวและความแข็งแรงลดลง สูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน ความยากลำบากเหล่านี้อาจทวีคูณมากขึ้นอันเนื่องมาจากสูญเสียรายได้ สูญเสียคู่ครอง เพื่อนหรือครอบครัว ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเสี่ยงภัยสิ่งแวดล้อมทางกายภาพได้เช่นกัน นโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมของผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องได้รับการหล่อหลอม ให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในประเด็นสังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งทางธรรมชาติและทางกายภาพในชุมชนใกล้ตัว

ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับนโยบายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าใจและยับยั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านพฤติกรรมและกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานในบ้านและการขนส่ง และจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เช่น บ้านประหยัดพลังงานมากขึ้น และสิ่งจูงใจเพื่อนำพวกเขาไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม4

นอกจากการส่งเสริมนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับผู้สูงวัยแล้ว ในระดับบุคคลหรือชุมชุนก็ควรจัดให้มีการแนะนำในเชิงจิตวิทยากับผู้สูงวัยเช่นกัน รวมไปถึงการจัดทำเวิร์คชอปหรือสัมมนา เพื่อสื่อสารถึงอันตรายของสิ่งแวดล้อมรอบตัวและส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเข้าใจวิธีปฏิบัติที่ดีแก่ตนเอง และสร้างการมีส่วนร่วมที่ผู้สูงอายุ มีอิสระในการกำหนดรูปแบบการทำงานด้วยตัวเอง โดยพิจารณาความสำคัญของแต่ละส่วนให้สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสภาพจิตใจของตนเอง การจัดเวิร์คชอปเพื่อสื่อสารการจัดการสุขภาพที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนี้ จะสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วม ตลอดจนสะท้อนถึงโอกาสในการให้การศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านการร่วมกันจัดการโดยผู้สูงอายุเอง5

การมีส่วนร่วมกับการสื่อสารสุขภาพในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นโอกาสในการปฏิสัมพันธ์กับพันธมิตรในชุมชน เช่น มีโอกาสพบปะกันระหว่างผู้สูงอายุในชุมชนเดียวกัน เพื่อหารือเรื่องการปรับแก้สภาพแวดล้อมแบบใกล้ตัวเพื่อป้องกันอันตรายในอนาคต หรือแม้กระทั่งรวมตัวกันในวงกว้างเชิงเครือข่ายเพื่อกดดันการออกนโยบายระดับประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น การให้โอกาสผู้สูงอายุได้ลงมือทำ ทั้งเวิร์คชอป ทั้งการจัดการหารือระดับชุมชนโดยผู้สูงวัยเอง ถือเป็นการมอบโอกาสที่กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพราะหากปราศจากการสื่อสารระหว่างกันเพื่อเชื่อมผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นเรื่องยาก หรือหากปราศจากการรวมตัวผนึกกำลังกัน ผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมจะไม่มีพลังในการต่อรอง การสื่อสารระหว่างกลุ่มและให้ความรู้แก่ชุมชนผู้สูงอายุเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการมีส่วนร่วมของพลเมือง รวมถึงการสร้างโอกาสให้ชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ (หรือคนต่างวัย) และโอกาสในการเปลี่ยนทัศนคติให้หันมาสนใจวิ่งแวดล้อมตนเองได้

โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566

รายการอ้างอิง

  1. Assembly of First Nations Environmental Stewardship Unit. (2009). Environmental health older adults and seniors (elders). https://www.afn.ca/uploads/files/rp-enviro_health_and_older_adults_and_seniors.pdf
  2. United States Environmental Protection Agency. (2022). Climate change and the health of older adults. https://www.epa.gov/climateimpacts/climate-change-and-health-older-adults
  3. Russell, C., Hill, B., & Basser, M. (1998). Older people’s lives in the inner city: hazardous or rewarding?. Australian and New Zealand Journal of Public Health, 22(1), 98-106. https://doi.org/10.1111/j.1467-842x.1998.tb01152.x
  4. Haq, G. (2013). Ageing population more at risk from environmental threats. The Conversation. https://theconversation.com/ageing-population-more-at-risk-from-environmental-threats-19574
  5. Riche, M. (2019). Creating change: Finding older adults’ role in local environmental issues. Master dissertation. Merrimack Collage, Massachusetts, USA. https://scholarworks.merrimack.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1023&context=soe_student_ce
Scroll to Top