เทคโนโลยีเพื่อชีวิต : ปัญญาประดิษฐ์กับการดูแลผู้สูงอายุในแดนมังกร

ปัจจุบันประเทศจีนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นประเทศที่ไม่หยุดคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในหลากหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยีในด้านการแพทย์ รวมไปถึงเทคโนโลยีในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยให้ชีวิตของผู้คนนั้นมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันนี้การส่งเสริมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนได้มีหลายภาคส่วนที่มีส่วนร่วมและสนับสนุน อุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศจีน เห็นได้จากการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 18 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ระบุว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศจีนได้ก้าวกระโดดเป็นประวัติศาสตร์ ความแข็งแกร่งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการพัฒนาเพื่อการเป็นผู้นำการพัฒนาสมัยใหม่ โดย Wu Zhaohui รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แนะนำการเปลี่ยนแปลงการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศจีนไว้ทั้งหมด 4 ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตอบสนองการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้คนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น1

เมื่อวันที่ 17 ถึง 19 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ประเทศจีนได้จัดงาน SIC Elderly Expo ขึ้นซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการทำงานผู้สูงอายุประจำมณฑลกวางตุ้ง กรมกิจการพลเรือนและสำนักงานกิจการพลเรือนกว่างโจว China Aging Industry Association China Poly Group Co., Ltd. และ Poly Development Holding Group Co., Ltd. เป็นต้น ในงานนี้เป็นงานที่จัดแสดงเทคโนโลยีล้ำสมัยและการดูแลผู้สูงอายุอย่างครอบคลุม โดยมุ่งเน้นไปที่หลายปัจจัย เช่น การให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลที่มีความหลากหลาย ความต้องการของผู้สูงอายุที่แตกต่างกัน พื้นที่จัดแสดงถูกจัดเตรียมไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุอัจฉริยะ การดูแลฟื้นฟูบริการดูแลผู้สูงอายุ บริการพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ และการดูแลสุขภาพ ซึ่งภายในงานจะได้พบกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์บริการดูแลผู้สูงอายุ ข้าวของเครื่องใช้ที่ทันสมัยสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องตรวจจับการหกล้มอัจฉริยะ เครื่องตรวจจับสัญญาณชีพ AI หุ่นยนต์ติดตามความปลอดภัยในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน รวมไปถึงหุ่นยนต์ให้คำปรึกษาอัจฉริยะอีกด้วย ซึ่งการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีควบคู่กับกับการให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุของประเทศจีนนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างมาก ซึ่งจากแถลงการณ์ทางสถิติเกี่ยวกับการพัฒนากิจการพลเรือนปี 2565 ที่ออกโดยกระทรวงกิจการพลเรือนของจีน แสดงให้เห็นว่า ณ สิ้นปี 2565 ประชากรผู้สูงอายุของประเทศที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึง 280 ล้านคน และจากการเผยแพร่ของกลุ่มวิจัยเศรษฐกิจเงินของสถาบันผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตันได้คาดการณ์ว่าการบริโภครวมของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในประเทศจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2018 ถึง 20352

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ Tao Fangfang และAssoc. Prof.Li Jingjing พบว่าการดูแลผู้สูงอายุอย่างชาญฉลาดกำลังกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้ และตลาดแอปพลิเคชันที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์พยาบาลที่มีหน้าที่หลักคือการดูแลผู้สูงอายุได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ซึ่งเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุลดต้นทุนการดูแลทางการแพทย์และสังคมสำหรับผู้สูงอายุได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้เองอาจจะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงสังคมจีนในการดูแลผู้สูงอายุได้ในอนาคต3

แล้ว AI จะช่วยตอบสนองการดูแลผู้สูงอายุได้จริงเหรอ?

จากปัญหาผู้สูงอายุในประเทศจีนเริ่มรุนแรงขึ้นและความต้องการการดูแลผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในรอบหลายปี จากการศึกษาเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ที่มีส่วนช่วยในการดูแลผู้สูงอายุสมัยใหม่ของ Huang Xin พบว่ารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุแบบดั้งเดิม หมายถึงการดูแลผู้สูงอายุโดยใช้คนนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุยุคใหม่ได้ดีดังแต่ก่อน ดังนั้นการนำ “ปัญญาประดิษฐ์ + การดูแลผู้สูงอายุ” รวมเข้าด้วยกัน จึงมีข้อได้เปรียบและมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ทั้งในแง่ของการปรับปรุงคุณภาพของการบริการดูแลผู้สูงอายุ และการตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ซึ่งรูปแบบการพัฒนา “ปัญญาประดิษฐ์ + การดูแลผู้สูงอายุ” ควรสร้างขึ้นจาก 4 ด้าน ได้แก่4

  1. บริการดูแลรายวัน เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านอัจฉริยะ สวิตช์ไฟอัจฉริยะ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะต่าง ๆ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุสามารถออกคำสั่งเพื่อใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะจากท่าทางหรือเสียงของตนได้ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านั้นก็จะตอบสนองความต้องการได้อย่างง่ายดาย
  2. บริการดูแลทางการแพทย์ เป็นบริการทางการแพทย์อัจฉริยะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพ การตรวจจับดัชนีร่างกาย การดูแลร่างกาย และบริการอื่น ๆ เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นได้จากหุ่นยนต์อัจฉริยะหรืออุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ผู้ใช้สามารถตรวจสอบข้อมูลการติดตามสัญญาณชีพ ข้อมูลการรักษาโรค ข้อมูลสุขภาพรายวัน และตัวชี้วัดอื่น ๆ ได้แบบเรียลไทม์ รวมไปถึงการวิเคราะห์ผลสุขภาพ และสุดท้ายป้อนข้อมูลกลับมายังผู้สูงอายุ ซึ่งแตกต่างจากบริการทางการแพทย์แบบเดิม ๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากบริการทางการแพทย์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่และเวลา มีการทำงานและติดตามตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถคาดการณ์การเกิดโรคบางอย่างในผู้สูงอายุผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
  3. บริการดูแลด้านจิตใจ เป็นบริการอัจฉริยะที่ให้บริการเพื่อปลอบโยนอารมณ์และจิตใจของผู้สูงอายุ รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาสำหรับผู้สูงอายุ การหาเพื่อนและการติดต่อกับบุตรหลานอีกด้วย “ปัญญาประดิษฐ์ + การดูแลผู้สูงอายุ” นอกจากการทำให้ผู้สูงอายุสามารถสร้างการเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์กับบุตรหลานได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ยังช่วยลดปัญหาจากอาการทางจิตใจของผู้สูงอายุได้อีกด้วย
  4. บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน โหมดบริการช่วยเหลือฉุกเฉินอัจฉริยะประกอบด้วยการเตือนอัตโนมัติและการตรวจสอบระยะไกล ซึ่งการบริการช่วยเหลือฉุกเฉินอัจฉริยะจะใช้อุปกรณ์ที่ได้รวบรวมข้อมูลทางกายภาพ สภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ โรคประจำตัวแบบเรียลไทม์และส่งไปยังฐานข้อมูลปัญญาประดิษฐ์เพื่อบันทึก วิเคราะห์ และทันทีที่ข้อมูลที่บันทึกและวิเคราะห์ไว้ไม่สอดคล้องกันหรือเกิดความผิดปกติ อุปกรณ์อัจฉริยะนี้จะส่งสัญญาณเตือนภัยโดยอัตโนมัติ จะแจ้งสัญญาไปยังโรงพยาบาลในชุมชนและแจ้งไปยังบุตรหลานด้วย สำหรับผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็สามารถตรวจสอบร่างกาย โรคประจำตัวได้ด้วยตนเองแบบเรียลไทม์ และเมื่อตรวจพบความผิดปกติ ก็สามารถรายงานหรือแจ้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทันเวลา และรับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจากบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต

เราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นั้นสามารถเข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลผู้สูงอายุได้จริง แต่ผู้สูงอายุจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้จริงเหรอ?

สูงวัยนั้นเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นคนรุ่นใหม่และคนรุ่นปัจจุบันจำเป็นต้องมีการตั้งรับและเตรียมตนเองให้พร้อมก่อนเข้าสู่ช่วงสูงอายุ เพื่อที่จะสามารถเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งจากที่กล่าวถึงเทคโนโลยีอัจฉริยะข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ถูกแวดล้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่จะพร้อมเข้ามาช่วยดูแล รวมไปถึงช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุมีการเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงต่อชีวิตได้อย่างมาก ปัจจุบันพื้นที่สื่อดิจิทัลหรือโลกออนไลน์ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การศึกษา การพักผ่อน การเข้าสังคม และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย Roxana Widmer-Iliescu ผู้ประสานงานอาวุโสของ Digital Inclusion Programme ภาคการพัฒนา ITU และ ITU ICT Accessibility กล่าวว่า “เราควรขจัดความเข้าใจผิดที่ว่าผู้สูงอายุไม่ใช้เทคโนโลยี หรือใช้เทคโนโลยีไม่เป็น เพราะผู้สูงอายุในปัจจุบันมีความชำนาญด้านเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ” และยิ่งในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เทคโนโลยีได้พิสูจน์แล้วว่าได้มอบโอกาสที่ไม่มีที่สิ้นสุดให้ผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้ เทคโนโลยีได้เข้าถึงกลุ่มคนทุกกลุ่ม ทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน มาจนถึงวัยผู้สูงอายุ ดังนั้นในอนาคตเทคโนโลยีจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้คนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงได้ และในอนาคตแอปพลิเคชันด้านสุขภาพ จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีอำนาจในการจัดการสุขภาพของตนเองได้อย่างอิสระมากยิ่งขึ้น5

แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้สูงอายุในประเทศจีนมีจำนวนมาก และมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาและการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุอัจฉริยะนั้นคือ การตอบสนองความต้องการในการดูแลผู้สูงอายุในยุคปัจจุบัน ซึ่งสามารถให้บริการดูแลเสริมสำหรับผู้สูงอายุ ตรวจจับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และแบ่งเบาภาระการดูแลผู้สูงอายุได้อีกด้วย ในเวลาเดียวกัน การประยุกต์ใช้อาจสร้างผลกระทบอะไรบางอย่างต่อผู้สูงอายุได้เช่นกัน ซึ่งแม้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อผู้สูงอายุ แต่ก็มีความเสี่ยงบางประการในประเด็นด้านศีลธรรม จริยธรรม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ความเสี่ยงของการรั่วไหลข้อมูลส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น ข้อมูลส่วนตัวของผู้สูงอายุจะถูกเก็บรวบรวมไว้ในปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัว อีกทั้งผลกระทบด้านการสื่อสารระหว่างบุคคล คุณภาพการดูแล และอารมณ์ นั่นหมายถึง “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์” จะต้องได้รับการดูแล และการประเมินความเสี่ยงของเทคโนโลยีอย่างเคร่งคัด ตั้งแต่ขั้นพัฒนา ขั้นการทดลองใช้ การประเมินผลขณะใช้จริง และการปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงหรืออันตรายจากการใช้เทคโนโลยีกับผู้สูงอายุ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน6

โดย อาจารย์ชาญเดช เทียนทอง
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
เผยแพร่เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2566

รายการอ้างอิง

  1. Liu Yin. (16 May 2023). Four significant enhancements! my country’s science and technology industry has undergone historic changes in the past ten years. http://finance.people.com.cn/n1/2023/0516/c1004-32687034.html
  2. CCTV. (15 November 2023). Using technology to support the “sunset red”, the 2023 China International Aging Industry Expo. https://www.163.com/dy/article/IJJ1D9220514R9NP.html
  3. Tao Fangfang. (2018). Ethical problems in the application of intelligent nursing robot for the elderly. [master’s thesis]. China University of Petroleum.
  4. Huang, X. (2020). A Mode Research on “Artificial Intelligence+ Pension” Service. J. Xi’an Univ. Financ. Econ, 33, 35-42.
  5. Roxana Widmer-Iliescu, (17 May 2022). Digital Technologies Can Help Older Persons Maintain Healthy, Productive Lives. https://www.un.org/en/un-chronicle/digital-technologies-can-help-older-persons-maintain-healthy-productive-lives
  6. Peng Xizhe, & Chen Qian. (2022). A brief discussion on China’s silver economy. Social Security Review.
Scroll to Top