รู้ทันมิจฉาชีพออนไลน์ ภัยร้ายหลายรูปแบบใกล้ตัวสูงวัยกว่าที่คิด

ตั้งแต่ต้นปี 2023 จนถึงตอนนี้ พวกเราคงได้ยินข่าว คนไทยถูกมิจฉาชีพในโลกออนไลน์หลอกลวงกันไม่เว้นแต่ละวัน มีทั้งการโกงเงิน โกงการซื้อขายสินค้าทางช่องทางออนไลน์ จากมูลค่าเล็กน้อยไปจนถึงคดีอาชญากรรมที่มีมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาทจากการหลอกให้ลงทุนรูปแบบต่าง ๆ และเชื่อไหมว่า ไม่ได้มีเพียงแต่ผู้สูงวัยที่เป็นตาสีตาสา แต่บางคนเป็นถึงนักธุรกิจ นักการเมือง นายแพทย์ หรือแม้กระทั่งเหล่าผู้ที่เรียนจบปริญญาเอกจากเมืองนอกเมืองนาก็ไม่พ้นเงื้อมมือ ตกเป็นเหยื่อของเหล่าอาชญากรโลกไซเบอร์เช่นเดียวกัน

ในงาน “Creative Talk Conference 2023” ภายใต้หัวข้อ “Inside Criminal Mild พี่มิจเค้าคิดอะไรอยู่” พันตำรวจโทธนธัส กังรวมบุตร สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ออกมาแบ่งปันเรื่องราวถึงเบื้องหลังของเหล่ามิจฉาชีพในโลกออนไลน์ว่า ตั้งแต่ได้เปิดรับแจ้งความออนไลน์มาเป็นระยะกว่า 14 เดือน มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงทางออนไลน์ และได้สร้างความเสียหาย มูลค่ามากกว่า 38,000 ล้านบาท แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถช่วยตามคดีและนำเงินกลับมาคืนผู้เสียหายได้เพียง 683 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว ถ้าคุณถูกหลอกเอาเงินไป 100 บาท คุณมีโอกาสจะได้เงินคืนแค่ 1.60 บาทเท่านั้น และในแต่ละวันมีการแจ้งความคดีที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงทางโลกออนไลน์มากถึง 700 คดี นั่นหมายความว่า ในทุกวันจะมีคนจำนวนมากที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์นั่นเอง

มิจฉาชีพจะแฝงตัวอยู่ในทุก ๆ แพลตฟอร์ม เข้ามาหลากหลายรูปแบบและหลากหลายอาชีพ เช่น ใช้กลลวงในการหลอกผ่านการส่ง SMS หรือข้อความทาง Line ซึ่งมักจะเป็นข้อความที่ทำให้คนที่ได้รับเกิดความสงสัย กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นต้นข้อความด้วยประโยคกระตุ้นให้สงสัยใคร่รู้ เช่น “วันก่อนเห็นแฟนพี่เดินกับใครไม่รู้ ลองคลิปนี้ดูสิ” หรืออาจจะส่งคลิปวีดีโอการเกิดอุบัติเหตุมาพร้อมกับข้อความ “ในคลิปนี่ใช่แฟนพี่หรือเปล่า” บางครั้งกลลวงนี้ก็มาในรูปแบบ SMS ชวนทำงาน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายก็จะมีทั้งหนุ่มสาวที่กำลังตกงาน รวมไปถึงผู้สูงอายุวัยเกษียณที่อยากหารายได้เสริมให้กับตัวเอง หลงเชื่อเพราะมีหวัง แต่กลับถูกหลอกจนหมดตัวในที่สุด1

กลยุทธ์การหลอกลวงทางออนไลน์ที่ยอดนิยมอีกวิธีหนี่ง นั่นคือ พวกมิจฉาชีพจะทำทีเป็นมาหลอกให้รักและเชื่อใจ จากหนุ่มสาวโสด รวมถึงพ่อแก่แม่หม้ายทั้งหลาย ให้ค่อย ๆ โอนเงินให้ทีละนิดไปจนถึงก้อนโต โดยมีข้อกล่าวอ้างมากมาย ไม่ว่าจะเดือดร้อน ช่วยโอนเงินมาก่อน แล้วจะโอนคืนพร้อมดอกเบี้ย หรือหลอกว่าจะเดินทางมาหา โดยเฉพาะกับพวกมิจฉาชีพที่อ้างตนเป็นชาวต่างชาติ พอเหยื่อตายใจก็ชิ่งหนี และน้อยคนที่จะสามารถตามเงินคืนได้ เพราะคนเหล่านี้มักปกปิดตัวตนที่แท้จริงเก่ง อีกกรณีที่ผู้สูงวัยมักจะถูกหลอกทางออนไลน์มากที่สุด คือ การปลอมเป็นคนรักเก่าที่คุ้นเคย ซึ่งแท้จริงแล้วคือการที่มิจฉาชีพใช้เทคโนโลยี AI ปลอมแปลงเสียงหรือใบหน้า เพื่อมาหลอกให้เหยื่อคิดว่าเป็นคนสนิทหรือคนที่รู้จักดี เช่น ปลอมเสียงเป็นหลานชายเพื่อโทรไปหลอกเอาเงินยาย จำนวน 5 แสนบาท และทำสำเร็จเสียด้วย โดยที่ยายท่านนั้นไม่เอะใจเลย เพราะคิดว่าจำเสียงหลานที่เลี้ยงมากับมือได้เป็นอย่างดี ซึ่งกรณีเช่นนี้เหล่ามิจฉาชีพพยายามที่จะเจาะเข้าถึงข้อมูลของพวกเรา เพื่อดักฟังเสียงโทรศัพท์ หลังจากนั้นก็จะใช้เทคโนโลยี หรือ AI มาดัดแปลงทำเป็นข้อความใหม่ เพราะฉะนั้น หากอยู่ดี ๆ มีคนโทรมา อ้างว่าเป็นแฟนเก่าบ้าง ญาติคนสนิทบ้าง เพื่อนเก่าที่รู้จักกันดีบ้าง รวมถึงผู้มีพระคุณในชีวิตบ้างแล้วล่ะก็ ให้ระวังให้ดี ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนที่จะเชื่อและกระทำสิ่งใด เพราะนั่นอาจจะเป็นเสียงของ AI ก็เป็นได้ นอกจากนี้มิจฉาชีพยังใช้วิธีกล่าวอ้างเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือ หน่วยงานที่หน้าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์สถานีตำรวจปลอม ศูนย์ดำรงธรรมปลอม หมายจับปลอม บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอม หรือแม้กระทั้งตำรวจปลอม1

การถูกหลอกจากมิจฉาชีพทางออนไลน์โดยเฉพาะเหยื่อที่เป็นผู้สูงอายุนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น โดย United States Senate Special Committee on Aging หรือ คณะกรรมาธิการพิเศษวุฒิสภาสหรัฐว่าด้วยผู้สูงอายุ ก็ได้กล่าวถึงเรื่องการถูกหลอกลวงจากเหล่ามิจฉาชีพทางออนไลน์ของผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกาในทำนองเดียวกัน โดยตั้งแต่สิ้นปี 2020 พวกเขาได้รับการร้องเรียนจากผู้สูงอายุที่โดนหลอกมากกว่า 8,000 คดีเลยทีเดียว ซึ่ง 65% ของการร้องเรียนนั้นพบว่า มีลักษณะการถูกหลอกอยู่ 5 กรณี คือ 1) การแอบอ้างว่าเป็นหน่วยงานรัฐ 2) การหลอกชิงโชคหรือการถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล 3)  การโทรจากระบบตอบรับอัตโนมัติและการหลอกลวงทางโทรศัพท์ 4) การใช้เทคโนโลยี หรือ AI มาช่วยในการหลอกลวง และ 5) การแอบอ้างว่าเป็นลูกหลานหรือญาติคนสนิท2

เพราะฉะนั้น หลังจากนี้เป็นต้นไป จะต้องคอยระมัดระวังตนและมีสติอยู่เสมอ หมั่นตรวจสอบที่มาที่ไปของข้อมูลข่าวสาร หรือบุคคลที่เข้าหาไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจทำสิ่งใดอยู่เสมอ มากไปกว่านั้นหากพบเจอการกล่าวอ้างจากบุคคลแปลกหน้าให้มั่นใจว่าเป็นการหลอกลวงก่อน หรือหากไม่แน่ใจให้ตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลหรือคุ้มครองเรื่องดังกล่าวก่อน นอกจากนี้ควรช่วยกันเตือนคนรอบข้างอยู่เสมอด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพในโลกออนไลน์เหล่านี้อีกต่อไป

โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)
เผยแพร่วันที่ 11 กรกฎาคม 2566

รายการอ้างอิง

  1. (2023, June 29). คนไทยโดนหลอกทางออนไลน์กว่า 700 คดี/วัน เสียหายกว่า 38,000 ล้านบาท เหยื่อมีทั้งหมอ นักธุรกิจ และ คนจบดอกเตอร์. https://www.manoottangwai.com/read/view/insidecriminalmind/
  2. S. Sentate Special Committee on Aging. (2021). The Top 5 Financial Scams Targeting Older Adults. https://www.aging.senate.gov/imo/media/doc/Fraud%20Book%202021.pdf
Scroll to Top