การรับมือกับข่าวสารโควิด-19 ในโลกออนไลน์ของผู้สูงอายุ…ตนเอง ครอบครัว เพื่อน

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เริ่มรุนแรงในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2563 เห็นได้ชัดว่า โรคร้ายนี้กลายมาเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่มผู้สูงอายุ มาตรการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ได้กลายเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศทั่วโลก ได้ทำให้การปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวลดลงอย่างเลี่ยงมิได้ สิ่งนี้อาจก่อปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องอยู่เพียงลำพัง

แม้เทคโนโลยีเพื่อติดต่อสื่อสารกันในสังคมสามารถสานต่อปฏิสัมพันธ์ที่ขาดหายไปได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการเว้นระยะห่างทางกายภาพเช่นนี้ แต่ผู้สูงอายุมักไม่อาจเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ดีเท่าที่ควร หรือในบางกรณี อาจขาดทักษะหรือประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการใช้งานเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น ตกเป็นเป้าหมายของข้อมูลเท็จ หรือการหลอกลวงโดยกลุ่มมิจฉาชีพ ทั้งสองกรณีนี้มีให้เห็นอยู่นับไม่ถ้วนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

ยกตัวอย่างในประเทศอินเดีย ซึ่งมีการระบาดของเชื้อไวรัสสูงที่สุดในโลกในช่วงปี 2563 นักวิชาการด้านจิตวิทยาผู้สูงอายุ เดบันจัน บาเนร์จี ได้นำเสนอตัวเลขเกี่ยวกับผู้สูงอายุในช่วงวิกฤตที่น่าสนใจ กล่าวคือ ผู้สูงอายุในอินเดียถึงร้อยละ 85 ไม่มีความรู้ด้านดิจิทัลเพียงพอ จึงมีความเสี่ยงที่จะรับหรือส่งต่อข้อมูลเท็จบนสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ผู้สูงอายุจำนวนมากมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินและการมองเห็น ซึ่งหมายความว่า เมื่อต้องถูกกักตัวหรือแยกตัวห่างไกลจากการดูแลของคนในครอบครัว ก็อาจไม่เข้าใจข้อมูลที่ได้รับ หรือได้รับอย่างไม่ครบถ้วน ประกอบกับประสาทสัมผัสที่เสื่อมลงตามเวลา ทำให้ความสามารถในการเปิดรับข้อมูลอย่างถี่ถ้วนลดลงตามไปด้วย ข้อมูลลวงที่ระบาดหนัก หรือข้อมูลจริงแต่มีเป็นจำนวนมาก อาจก่อความเข้าใจผิดจนเกิดความเสียหายได้ ผู้สูงอายุอาจรับข้อมูลได้เพียงบางส่วนเพราะสภาพร่างกายไม่อำนวย เมื่อรู้เพียงครึ่งก็ปฏิบัติเพียงครึ่ง หรือที่แย่ที่สุด ก็คือการปฏิบัติตามข้อมูลผิด ๆ ที่มาจากการระบาดข้อมูลเหล่านั้น1

ปรากฏการณ์การระบาดข้อมูลนี้ ตรงกับสิ่งที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ข้อมูลที่ผิดพลาดอาจทำอันตรายถึงชีวิต ในกรณีที่ปราศจากข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือข้อมูลที่ถูกต้อง การทดสอบหรือวินิจฉัยทางการแทพย์ก็อาจไม่ได้ผล การรณรงค์ให้เกิดการภูมิคุ้มกันร่วม หรือส่งเสริมการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ อาจไม่บรรลุเป้าหมาย และไวรัสอาจยังคงแพร่กระจายต่อไป นอกจากนี้ ในการอภิปรายสาธารณะในหัวข้อเกี่ยวข้องกับโควิด-19 นั้น การบิดเบือนข้อมูลยังทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือขยายคำพูดแสดงความเกลียดชัง กระทั่งกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรง และละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนคุกคามการพัฒนาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความสามัคคีในสังคมในระยะยาวอีกด้วย”2

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะนั้น นักวิชาการสองคน คือ ไรอัน มัวร์ กับเจฟฟรีย์ แฮนค็อก3 ได้เสนอแนะแนวทางในการวางแผนสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายในสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยในการใช้สื่อดิจิทัลในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสนี้ โดยกล่าวว่า ผู้ช่วยเหลือซึ่งถือเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าสำหรับผู้สูงอายุ คือ ครอบครัวและเพื่อนวัยเดียวกัน สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนของผู้สูงอายุเหล่านี้ ควรพยายามติดต่อกับผู้สูงอายุ ทั้งทางตรงกับทางอ้อมให้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่อยู่ตามลำพัง ไม่มีผู้ดูแล แม้เป็นเพียงแค่ทักทายสั้น ๆ หรือถามไถ่สารทุกข์ ก็จะช่วยให้คลายเหงาลงได้เช่นกัน นอกจากนี้ สมาชิกในครอบครัวควรพยายามช่วยเหลือผู้สูงอายุที่บ้านของตนในด้านเทคนิคต่าง ๆ กล่าวคือ สอนการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสาธิตการใช้แพลตฟอร์มใหม่ ๆ ในช่วงที่มีการระบาดครั้งนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้คนที่อยู่ห่างกันสามารถติดต่อกันได้อย่างมิขาดสาย

มีการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะไม่สบายใจ เมื่อต้องขอความช่วยเหลือในด้านเทคโนโลยีจากบุตรหลาน กระนั้นก็ดี แนวทางช่วยเหลือในเชิงรุก เช่น เข้าหาผู้ใหญ่ก่อน นำเสนอการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือแอปพลิเคชัน ตลอดจนอดทดอดกลั้นกับความช้าในการเรียนรู้ ก็จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกที่มีอายุน้อยกับผู้สูงวัยในครอบครัวได้เป็นอย่างดี4

นอกจากนี้ มัวร์ กับแฮนค็อก ยังเสนออีกว่า องค์กรของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ ควรให้ความสำคัญกับข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว ตลอดจนกลโกงหรือข้อมูลลวงเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เนื่องจากผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพอยู่ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว ผู้กำหนดนโยบายควรจัดให้มีการสื่อสารที่ชัดเจน จัดสรรทรัพยากรเพื่อเสริมสร้างให้ผู้สูงอายุเผชิญกับภัยรอบตัวให้จงได้ ไม่เพียงเท่านั้น องค์กรสื่อควรพยายามลบข่าวลือที่ไม่เป็นจริงเกี่ยวกับไวรัสออกให้หมด สนับสนุนแหล่งข้อมูลที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ และตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ให้ผู้สูงวัยโดยเฉพาะ

ในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคต บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีควรให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลของผู้สูงอายุเป็นหลัก มัวร์ กับแฮนค็อก ยังเสนอว่า แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์นั้นมีความสำคัญเป็นพิเศษ มีผลวิจัยว่าผู้ใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวรายใหม่ของเฟซบุ๊คนั้น ส่วนใหญ่มาจากบุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป5 เครือข่ายออนไลน์เหล่านี้ สามารถใช้แพลตฟอร์มของตนเอง ในการส่งเสริมการใช้สื่อดิจิทัลของผู้สูงอายุอย่างเหมาะควร โดยกำหนดเนื้อหาหรือติดตั้งระบบความปลอดภัยออนไลน์

ในส่วนของตัวผู้สูงอายุเองนั้น มีนักวิชาการให้คำแนะนำในการตระหนักถึงภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ไว้อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือวิธีรับมือกับข่าวโควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามาล้นหลาม เดเนียล ฟูงค์ ได้เสนอ 7 แนวทางในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 จากสื่อออนไลน์ที่ผู้สูงอายุไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ ดังนี้6

1) เรียนรู้พื้นฐานของโรค – อาการเป็นอย่างไร แพร่กระจายอย่างไร คล้ายกับโรคอะไร ยิ่งมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโรคนี้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความพร้อมในการตรวจหาข้อมูลที่ผิดทางออนไลน์มากขึ้น

2) เลิกสนใจโพสต์ที่บอกว่าการระบาดของโควิด-19 มีผู้อยู่เบื้องหลัง – มีข่าวปลอมมากมายในเชิงทฤษฎีสมคบคิด หาว่าโรคระบาดครั้งนี้เกิดจากการผลิตอาวุธชีวภาพ สร้างขึ้นในห้องทดลอง หากผู้สูงอายุเลิกใส่ใจในประเด็นเหล่านี้ได้ ก็จะลดการหมกหมุ่นถึงที่มาของโรคร้ายได้

3) ตรวจสอบรูปภาพและคลิปวิดีโอที่ได้รับ – รูปภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคนละบริบท อาจถูกนำมาปั้นแต่งเพื่อหลอกลวงว่า เป็นภาพข่าวของการระบาด ผู้สูงอายุจึงควรตระหนักว่า รูปภาพอาจถูกบิดเบือน คลิปวิดีโออาจไม่มีที่มาชัดเจน เพียงแต่มีคำอธิบายหรือเสียงบรรยายก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องจริง

4) ตรวจสอบจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และอัตราการเสียชีวิตให้แน่ชัด – ตัวเลขเหล่านี้เป็นดัชนีชี้วัดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ในการวัดความรุนแรงของโรคระบาด ข้อมูลเหล่านี้มีการอัพเดทวันต่อวัน เมื่อมีการส่งต่อ ๆ ไปก็ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ การหาข้อมูลตัวเลขที่แน่ชัด คือ การเข้าไปยังแหล่งข้อมูลของรัฐหรือสื่อที่เชื่อถือได้

5) ระมัดระวังการขยายเรื่องโควิดให้ดูน่ากลัว หรือลดทอนภัยที่แท้จริงของโรค – โรคระบาดมักทำให้เป็นเรื่องการเมือง บางคนจะใช้ข้อมูลบางส่วนเพื่อการปั่นป่วน เบี่ยงเบนความสนใจ หรือหาแพะรับบาป ผู้สูงอายุจึงควรตระนักว่าอาจมีการกล่าวอ้างของกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มบุคคล เพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่าง

6) ไม่ควรแชร์วิธีการป้องกันหรือการรักษาโรคโดยไม่ตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการ – ในยามที่โรคระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลก สื่อสังคมออนไลน์มักปรากฏโพสต์เกี่ยวกับวิธีป้องกันหรือวิธีรักษาโรค บางครั้งวิธีเหล่านั้นไม่ได้รับการยืนยัน จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต สำหรับวิธีที่ยืนยันแนวทางการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด ควรมองหาคำแนะนำจากฝ่ายรัฐ หรือองค์กรการแพทย์ที่เชื่อถือได้ ตลอดจนหน่วยงานด้านสาธารณสุขในท้องถิ่นของผู้สูงอายุเอง

7) มองหาสิ่งที่ยังไม่รู้ – เมื่อคนเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็มักจะรู้สึกอึดอัด แต่ในบางครั้ง นักวิทยาศาสตร์หรือนักการแพทย์เองก็ยังไม่อาจหาคำตอบเกี่ยวกับโรคร้ายได้ เช่น วิธีการแพร่กระจายของโรค รูปแบบการติดต่อ ภัยร้ายจะอยู่ยาวนานเพียงใด ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมักถูกเสริมเติมแต่ง และนำมาแชร์ในโลกออนไลน์ หนทางที่ดีที่สุดในการยับยั้งปัญหาเหล่านี้ คือการไม่พลัดหลงไปกับข้อมูลที่น่าสงสัย แต่ให้ยึดถือสิ่งที่เรารู้และได้รับการพิสูจน์แล้วเป็นหลัก แล้วจึงค่อย ๆ ขยับขยายมองหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้อื่น ๆ เพื่อเติมในจุดที่เราไม่รู้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ควรเป็นแหล่งข้อมูลที่ไว้ใจได้ตามข้อที่ 6 ข้างต้นนั่นเอง

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวมมากขึ้นทั่วโลก มีทรัพยากรทางการเงินและมีประสบการณ์ชีวิตที่กว้างขวาง การช่วยเหลือผู้สูงอายุให้มีชีวิตอย่างปลอดภัย โดยใช้สื่อออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากผู้สูงอายุเองจะได้รับประโยชน์จากข้อมูลแปลกใหม่หลากหลายแล้ว การที่ประชากรสูงวัยใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและมีทักษะ ก็จะก่อประโยชน์แก่สังคมโดยรวม ลดภาระ และเติมเต็มความสัมพันธ์ในครอบครัว อีกทั้งยังตระหนักรู้ภัยร้ายจากโรคโควิด-19 และหาและเลือกข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับโรคได้ด้วยตนเอง

 

โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)

เผยแพร่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565

 

รายการอ้างอิง

1 Mukherjee, M. (2021, November 27). Why the elderly are more susceptible to social media misinformation. The Wire. https://thewire.in/tech/elderly-social-media-misinformation-covid-19

2 World Health Organization. (2020, September 23). Managing the COVID-19 infodemic: Promoting healthy behaviours and mitigating the harm from misinformation and disinformation. https://www.who.int/news/item/23-09-2020-managing-the-covid-19-infodemic-promoting-healthy-behaviours-and-mitigating-the-harm-from-misinformation-and-disinformation

3 Moore, R. C., & Hancock, J. T. (2020). Older adults, social technologies, and the coronavirus pandemic: Challenges, strengths, and strategies for support. Social Media+ Society, 6(3). https://doi.org/10.1177/2056305120948162

4 Tsai, H. S., Shillair, R., & Cotten, S. R. (2017). Social support and “playing around”: An examination of how older adults acquire digital literacy with tablet computers. Journal of Applied Gerontology, 36(1), 29–55. https://doi.org/10.1177/0733464815609440

5 Schaffel, G. (2018, February). It’s official: Facebook is becoming the platform for you. American Association of Retired Persons.  https://www.aarp.org/home-family/personal-technology/info-2018/facebook-users-age-fd.html

6 Funke, D. & PolitiFact. (2020, March 16). 7 ways to avoid misinformation during the coronavirus pandemic. Poynter. https://www.poynter.org/fact-checking/2020/7-ways-to-avoid-misinformation-during-the-coronavirus-pandemic/

Scroll to Top