การสื่อสารกับผู้สูงวัย: ความเข้าใจและไม่ตัดสิน

การสื่อสารในการดูแลผู้สูงอายุมักมีความท้าทายเนื่องจากความลำบากในเชิงกายภาพหลาย ๆ ด้าน เช่น ความบกพร่องทางการได้ยิน โรคบางประเภทในสมอง ทำให้ความจำและการมองเห็นลดลง หรืออาจเกิดจากสภาวะบางอย่างที่เกี่ยวกับการเสื่อมทางระบบประสาท เช่น ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน หรือแม้แต่การบาดเจ็บในลำคอหรือปาก ก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการสื่อสารด้วยเช่นกัน

ปัญหาสุขภาพเกี่ยวข้องกับอายุล้วนเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างผู้สูงวัยในครอบครัว หรือผู้สูงวัยกับหน่วยงานช่วยเหลือภาครัฐอื่น ๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องติดต่อกับผู้สูงอายุเป็นครั้งคราว ภาวะเรื้อรังต่าง ๆ ของผู้สูงวัย (ภาวะสมองเสื่อม การสูญเสียการได้ยิน หรือผลกระทบของยา เป็นต้น) อาจทำให้การสนทนาไม่ลื่นไหล หรือเกิดความเข้าใจข้อมูลที่รับฟังลำบากมากยิ่งขึ้น ในช่วงวัยที่สมรรถนะด้านร่างกายเสื่อมถอยลงเช่นนี้ คนวัยอื่น ๆ ที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุอาจเกิดความรู้สึกรำคาญใจหรือเห็นว่าการสื่อสารกับผู้สูงวัยไร้ประโยชน์ได้

การสื่อสารที่สำเร็จได้ผลดี ย่อมอาศัยประสาทสัมผัสที่ชัดเจน ดังนั้น ความบกพร่องทางการมองเห็นหรือการได้ยินอันเนื่องมาจากอายุ อาจทำให้วิธีพูด การทำความเข้าใจ การอ่าน หรือการเขียน เป็นไปได้ยากหรือกระทั่งสื่อสารผิดพลาดได้ ยกตัวอย่าง ปัญหาการได้ยินอาจทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้ว่าว่ามีคนกำลังพูดอยู่ด้วย หรือพูดแล้วเข้าใจได้ยากขึ้น จนทำให้ติดตามบทสนทนาได้ไม่ถี่ถ้วน ปัญหาด้านสายตาอาจทำให้อ่านข้อความในสื่อประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ในโทรศัพท์มือถือได้ลำบาก หรือแม้กระทั่งการอ่านข้อความที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างเช่นฉลากยาเป็นต้น1

มีข้อมูลจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศสิงคโปร์ด้านการสื่อสารกับผู้สูงวัยให้ได้ประสิทธิภาพที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับการนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะของความเป็นคนเอเชียเหมือนกัน โดยมีหลักการสื่อสารกับผู้สูงอายุ 2 ข้อที่สำคัญ2

การสื่อสารเป็นถนนสองสาย กล่าวคือ ผู้พูดและผู้ฟังมีหน้าที่ยกระดับวิธีการสื่อสารระหว่างกัน การสนทนาถือเป็นความพยายามร่วมกันสองฝ่าย หาใช่ความรับผิดชอบของคนเพียงคนเดียว มิฉะนั้นจะกลายเป็นการพูดเพียงลำพังไม่ใช่การสื่อสารโต้ตอบกัน ดังนั้น การรับฟังซึ่งกันและกันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ความจำเป็นในการปรับตัวตามข้อจำกัด กล่าวคือ เมื่อมีการสนทนาเกิดขึ้นกับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน การสนทนาในห้องที่เงียบมักจะได้ผลดีกว่า และหากมีอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการได้ยิน ก็จะอำนวยความสะดวกในการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีข้อแนะนำในการสื่อสารกับผู้สูงอายุในประเด็นย่อยที่น่าสนใจ ได้แก่
– ข้อความในการสื่อสารไม่ควรซับซ้อน กุญแจสำคัญของการสื่อสารกับผู้สูงวัยคือต้องเข้าใจง่าย จึงไม่ควรใช้คำศัพท์ที่ซับซ้อน แต่ควรใช้คำง่าย ๆ และพยายามไม่ใช้ศัพท์เฉพาะกลุ่ม
– ให้ความสำคัญกับผู้สูงวัย โดยเน้นย้ำว่าผู้สูงวัยมีความสำคัญในการสื่อสารแต่ละครั้ง โดยใช้ความเห็นอกเห็นใจเป็นที่ตั้งในการสร้างบทสนทนาร่วมกัน
– ให้ข้อมูลในแบบที่ผู้สูงวัยชื่นชอบ การให้ข้อมูลในลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้สูงวัยตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ จึงควรให้ข้อมูลในแบบที่ผู้สูงวัยจำเป็นและต้องการ หากมีข้อจำกัดด้านการได้ยิน ผู้สื่อสารอาจใช้วิธีการวาดภาพหรือการสาธิต ก็จะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น
– พยายามลดระดับความเร็วในการพูด เลี่ยงที่จะไม่ให้ข้อมูลมากเกินไปหรือเร็วเกินไป เพื่อปล่อยให้ผู้สูงวัยประมวลผลหรือทำความเข้าใจกับรายละเอียด โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่คุ้นเคย

ในส่วนของซีกโลกตะวันตก หน่วยงานดูแลผู้สูงวัยในสหรัฐอเมริกาได้เสนอแนวทางในการสื่อสารกับผู้สูงวัยในการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข โดยคำนึกถึงสภาพด้านกายภาพและจิตใจของผู้สูงวัยเช่นกัน3,4 โดยมีข้อมูลด้านการสื่อสารกับผู้สูงวัยที่น่าสนใจ ดังนี้

การระวังเรื่องสุขภาพ ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพประจำตัว ซึ่งอาจมีผลให้พูดและเข้าใจการสื่อสารจากผู้อื่นได้ยากขึ้น ดังนั้น ผู้สื่อสารต้องแน่ใจว่าตนเองได้คำนึงถึงสุขภาพของบุคคลนั้นเป็นหลักก่อนที่จะทำการสื่อสารใด ๆ ออกไป เช่น ผู้สูงอายุบางคนอาจได้ยินไม่ถนัด พูดไม่ชัด หรือความจำเสื่อม สิ่งเหล่านี้อาจทำให้การสื่อสารขัดข้อง ไม่ราบรื่น

ความใส่ใจกับสภาพแวดล้อม ควรประเมินสภาพแวดล้อมโดยรอบในการสื่อสาร มีเสียงรบกวนรอบข้างหรือไม่ มีบุคคลร่วมในการสนทนามากกว่าหนึ่งคนหรือไม่ มีเสียงอื่น ๆ รบกวนหรือไม่ ซึ่งอาจก่อกวนสมาธิของผู้สูงวัย สิ่งสำคัญคือความสบายกายของผู้สูงวัย หากมีข้อกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการสื่อสารอาจส่งผลทำให้จิตใจว่อกแว่กได้

การพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการได้ยิน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพูดให้ช้าและชัด โดยพยายามสนทนาโดยการมองหน้าตรง ไม่ควรพูดในลำคอ ควรออกเสียงแต่ละคำด้วยความระมัดระวัง

ระดับเสียงที่เหมาะสม การออกเสียงดังและการพูดเสียงดังมีความต่างกัน ผู้สื่อสารจึงควรเรียนรู้ที่จะปรับเสียงของตนเองให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยแต่ละคน ควรประเมินสภาพแวดล้อมรอบกาย ตลอดจนประเมินความสัมพันธ์ วัดความสามารถในการได้ยินของผู้สูงวัยคนนั้น ๆ ไม่ควรตะโกนหากผู้สูงวัยได้ยินไม่ถนัด แต่ควรพูดซ้ำ ให้ช้าและชัด ปฏิบัติต่อผู้สูงวัยด้วยความเคารพ พูดด้วยน้ำเสียงที่สบาย ๆ เหมาะสมกับการสนทนาทั่วไป

การเลือกใช้คำถามที่ถูกต้องแม่นยำ ควรถามคำถามกลับในกรณีที่ผู้สูงวัยพูดไม่ชัด เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดขึ้น โดยคำถามที่ใช้ไม่ควรซับซ้อน เพราะผู้สูงวัยที่มีความจำสั้นหรือสูญเสียการได้ยินอาจรู้สึกสับสน ประโยคคำถามหรือบอกเล่าที่ช้าและชัดเจนจะง่ายต่อการทำความเข้าใจ

การสื่อสารแบบค่อยเป็นค่อยไป อดทน และพยายามยิ้มให้มาก การมอบรอยยิ้มจริงใจให้แก่ผู้สูงวัย แสดงถึงความเข้าใจ และยังสร้างสภาพแวดล้อมอันเป็นมิตรในการสื่อสารแต่ละครั้ง ควรเว้นระยะการพูดระหว่างประโยคบอกเล่าหรือคำถาม เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายทำความเข้าใจ ย่อยข้อมูล ย่อยคำถามได้ดียิ่งขึ้น อันเป็นแนวทางที่ใช้ได้ผลในกลุ่มผู้สูงอายุที่สูญเสียความทรงจำระยะสั้น การหยุดพูด เว้นระยะระหว่างประโยชน์ แสดงว่าคนพูดแสดงความเคารพ มีความอดทน

จะเห็นได้ว่า แนวทางการสื่อสารกับผู้สูงวัยทั้งสองฝั่งทวีป เน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้สูงวัยด้วยความเข้าใจ และไม่ตัดสินว่าผู้สูงวัยเป็นภาระ โดยระลึกถึงสภาวะทางกายภาพของผู้สูงวัยเป็นหลัก การปฏิบัติตนระหว่างการสื่อสารที่ดี จึงไม่ควรมองว่าเป็นภาระหนักที่ต้องรับผิดชอบ เมื่อใจที่ให้ผู้สูงวัยสะท้อนความปรารถนาดีอย่างแท้จริง ผู้สูงวัยก็จะรู้สึกดี และยอมรับการสื่อสารจากคนต่างวัยได้ด้วยความยินดีในความเคารพที่ให้มา

โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2565

รายการอ้างอิง

  1. Patkar, M. (2014). The mistakes make communicating with elders (and how to fix them). https://lifehacker.com/the-mistakes-we-make-communicating-with-elders-and-how-1575782036
  2. Lui, C. (n.d.). Tips to communicate effectively with the elderly. HealthXchange.sg. https://www.healthxchange.sg/seniors/caregiver-tips/communicate-effectively-with-elderly
  3. How to communicate With older adults. (2022). WikiHow. https://www.wikihow.com/Communicate-With-Older-Adults
  4. Hagan, E. (2014, November 16). How to communicate effectively with older adults: A senior’s core needs are to feel relevant and respected. Psychology Today. https://www.psychologytoday.com/us/blog/communication-success/201411/how-communicate-effectively-older-adults
Scroll to Top