ภาพลักษณ์ผู้สูงวัยในสื่อชี้นำทัศนคติของสังคม

การนำเสนอภาพของวัยชราผ่านสื่อมีส่วนสำคัญในการกำหนดทัศนคติของสังคมต่อผู้สูงอายุ ทว่าการนำเสนอภาพผู้สูงอายุผ่านสื่อหลายต่อหลายครั้ง ยังขาดความตระหนักถึงผลกระทบต่อทัศนคติของคนรุ่นอื่น ๆ ที่มีต่อกลุ่มผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุในหลาย ๆ ประเทศ ได้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ทางสังคมด้วยอย่างเลี่ยงมิได้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางสังคม หรือค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนผู้สูงอายุจากภาครัฐ จนอาจทำให้คนกลุ่มอื่น ๆ มองผู้สูงอายุว่าเป็นภาระทางสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ภาพลักษณ์ทางสังคมของผู้สูงอายุยังมีโอกาสผันแปรไปตามระดับความทันสมัยที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้กล่าวถึงความสำคัญของปรากฏการณ์นี้ โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรและการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุในโฆษณา จากการวิเคราะห์ข้อมูลระยะเวลา 10 ปี พบว่า ในสังคมญี่ปุ่น ผู้สูงอายุมีบทบาทที่สำคัญเพิ่มขึ้น มีการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุในลักษณะที่เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ดี การนำเสนอภาพของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในโฆษณาอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเชิงประชากรของสังคมญี่ปุ่น การโปรโมตผลิตภัณฑ์ด้วยภาพแทนผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นเช่นนี้ จึงอาจสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโภชนาการของผู้สูงอายุ ดังนั้น การสร้างความเข้าใจอันดีผ่านการสร้างโฆษณาที่สอดคล้องกับความเป็นจริง จะช่วยมิให้เกิดความเข้าใจที่ผิดต่อผู้สูงอายุในกลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคมได้1

งานวิจัยล่าสุดเปรียบเทียบทัศนคติของกลุ่มคนต่าง ๆ ต่อผู้สูงอายุในเกาหลีและญี่ปุ่น พบว่า ในเชิงวัฒนธรรม ทั้งสองสังคมมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่นักเรียนในญี่ปุ่นมีทัศนคติเชิงบวกต่อผู้สูงอายุมากกว่านักเรียนในเกาหลี โดยนักเรียนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายในญี่ปุ่นมีคะแนนเชิงทัศนคติสูงกว่านักเรียนในเกาหลี ทั้งนี้ อายุของนักเรียนมีส่วนทำให้ทัศนคติในหมู่นักเรียนของทั้งสองประเทศต่างกัน นักเรียนในชั้นมัธยมต้นมักมีทัศนคติเชิงบวกต่อผู้สูงอายุมากกว่านักเรียนมัธยมปลาย ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่า เมื่อคนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นตามวัย ทัศนคติของนักเรียนกลับกลายเป็นลบยิ่งขึ้น คำอธิบายอย่างหนึ่งได้แก่ นักเรียนมัธยมปลายมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุน้อย ดังนั้น การไม่มีโอกาสใช้ชีวิตร่วมกับผู้สูงอายุถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบ2

ส่วนการวิจัยในระดับนักศึกษาพบว่า มีความแตกต่างในภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุระหว่างนักศึกษาญี่ปุ่นและนักศึกษาเกาหลี จากการวิเคราะห์ข้อมูลในกลุ่มนักศึกษาญี่ปุ่น 320 คน และ นักศึกษาเกาหลี 384 คน พบทัศนะต่อภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุที่ต่างกัน นักศึกษาเกาหลีมักมีทัศนะเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุมากกว่านักศึกษาญี่ปุ่น ในขณะที่นักศึกษาญี่ปุ่นมองเห็นภาพผู้สูงอายุในแง่บวกหรือกลาง ๆ ผลวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ที่ดีในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุในแบบต่าง ๆ นักศึกษาที่มีประสบการณ์ที่ดีกับผู้สูงอายุมักมองมองผู้สูงอายุในแง่บวก ทั้งนี้ การสื่อสารและการทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุยังมีผลต่อภาพลักษณ์ที่มีนัยสำคัญในสังคม ผลการวิจัยนี้สะท้อนถึงความสำคัญของการสร้างประสบการณ์ที่ดีและการเข้าสังคมในวัยที่มีอายุมาก3

นอกจากนี้ การศึกษาซึ่งสำรวจภาพยนตร์จากทั่วโลกยังพบว่า ภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุมีลักษณะลบมากในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า บางภูมิภาคของเอเชียยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับประชากรสูงอายุ ฉะนั้นแล้วการสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้สูงอายุเพื่อให้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีนั้นถือว่าสำคัญอย่างมาก และยังเป็นปัจจัยหลักในกระบวนการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุในสังคม ทำให้สังคมเตรียมพร้อมที่จะดูแลผู้สูงอายุอย่างเต็มใจมากขึ้นในอนาคต4

โดยสรุป การนำเสนอภาพของผู้สูงอายุในสื่อมีความสำคัญอย่างมาก เพราะสื่อมีผลต่อการกำหนดและชี้นำทัศนคติของคนในสังคมต่อกลุ่มผู้สูงอายุ ภาพลักษณ์ที่ถูกต้องตามความจริงจะช่วยส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมทางสังคมและชุมชนของผู้สูงอายุได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความเข้าใจและเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ การสร้างความตระหนักรู้ ตลอดจนการส่งเสริมการรับรู้เรื่องสิทธิและเสรีภาพ โดยการเน้นให้ผู้สูงอายุได้รับการยกย่องและเคารพสิทธิของตนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้สังคมมีความเท่าเทียม ฉะนั้น การนำเสนอภาพของผู้สูงอายุในสื่อต่าง ๆ มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดเพื่อสร้างภาพที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งหมด

โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)
เผยแพร่ วันที่ 29 ธันวาคม 2566

รายการอ้างอิง

  1. Prieler, M., Kohlbacher, F., Hagiwara, S., & Arima, A. (2015). The representation of older people in television advertisements and social change: The case of Japan. Ageing & Society35(4), 865-887.
  2. Jeong, J.H., Kim, Y.S., Shimogaki, H., Totsuka, S., Hong, S.H., Park, S. H. (2000). Images of the elderly held by junior and senior high school students: A comparative study between Korea and Japan studied with the SD method. Japanese Journal of Social Welfare, 41(1), 163-174.
  3. Kim, J. H., Kim, M., Hosoe, Y., & Ju, K. (2020). Images of older adults among university students: a comparison between Japan and Korea. Journal of Cross-Cultural Gerontology35, 273-290.
  4. Ng, R., Indran, N., & Yang, W. (2023). Portrayals of older adults in over 3000 films around the world. Journal of the American Geriatrics Society, 71(9), https://doi.org/10.1111/jgs.18400,2726-2735.
Scroll to Top