ทำไมเราถึงไม่ชอบฟังเพลงใหม่เมื่อมีอายุมากขึ้น

เพลงยุคของเราดีที่สุดทั้งที่มันผ่านพ้นไปนานหลายสมัย และยังคงรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ยิน หากลองพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยตนเอง ลองเปรียบเทียบเพลงใหม่ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นใหม่รอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ยินมันตามพื้นที่สาธารณะ หรือจากผู้คนในครอบครัวที่มีวัยแตกต่างกัน เรามักจะรู้สึกว่าเหตุใดพวกเขาถึงฟังเพลงเหล่านั้นเข้าไปได้ หรืออาจจะไม่เข้าหูเอาเสียเลย อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าเพลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ดีเหมือนกับเพลงที่อยู่ในความทรงจำหรือยุคสมัยก่อน บทความนี้จะชวนคิดให้เราตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงรู้สึกแบบนั้น และความคิดเหล่านี้มันสะท้อนความคิดของเราอย่างไร หรือหากเราสามารถก้าวพ้นข้ามผ่านบทเพลงที่เคยรู้สึกว่าดีในความทรงจำเหล่านั้นได้อย่างไร

การเปรียบเทียบบางสิ่งจากข้อมูลดั้งเดิมที่อาจจะเรียกได้ว่าเรามีพื้นฐาน “รสนิยม” ที่ไม่เหมือนกัน นำไปสู่การที่ไม่อยากเสียเวลาไปฟังและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติในมนุษย์ทุกคน ยิ่งมีอายุมากขึ้น เวลาที่จะให้ความสนใจกับความบันเทิงหรือใช้เวลาไปกับการฟังเพลงใหม่มีน้อยลง อีกทั้งบทเพลงในยุคสมัยของเราอาจจะเพียงพอแล้วสำหรับใช้สะท้อนรสนิยมหรือตัวตน ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ในชีวิตดุจเพลงประกอบภาพยนตร์ในชีวิตจริงได้อีกด้วย ไม่แปลกที่หลายครั้งเรามักจะชอบเพลงเก่าที่เราคุ้นชินมากกว่าจะเป็นเพลงใหม่ที่เกิดขึ้น

รสนิยมที่แตกต่าง

แน่นอนว่ารสนิยมเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ถือได้ว่าเป็นรูปธรรมทางประวัติศาสตร์ในชีวิตมนุษย์ทุกคน และสามารถเชื่อมร้อยผู้คนให้มีความเชื่อมโยงกันได้จากการบริโภคผ่านกาลเวลาและสถานที่ร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าช่วงวัยคือขอบเขตสมมุติผ่านประสบการณ์ร่วม ที่สามารถก่อรูปกลายเป็นรสนิยมของผู้คนในยุคสมัยหนึ่งได้ แต่เมื่อเวลาและสถานที่แตกต่างกัน บริบทในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน รสนิยมที่เกิดขึ้นใหม่อาจจะไม่สอดคล้องกับรสนิยมเดิมที่เราเคยมีและมักอ้างอิงจากประสบการณ์ในช่วงวัยของเรา

อย่างไรก็ตาม หากกล่าวด้วยภาษานักสังคมวิทยาอย่างบูดิเยอร์1 ชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้ประกอบขึ้นจากทุนทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ความเป็นตัวตนที่ก่อรูปขึ้นจากประสบการณ์และความทรงจำที่แตกต่างกันไปนั้น กลับกลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมแบบที่เราเรียกกันว่า “รสนิยม” หากรสนิยมคือสิ่งซึ่งแสดงออกผ่านการบริโภค การบริโภคจึงเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนตัวตนและความคิดของมนุษย์ในห้วงเวลาหนึ่งได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังเพลงที่เราเคยมีเวลามากพอที่จะอยู่ด้วยกันกับสิ่งนี้ในช่วงชีวิตหนึ่ง และค่อย ๆ ห่างหายไปจากหน้าที่การงานและความสำคัญอื่น ๆ ในชีวิตที่มีมากกว่าการฟังเพลง บทเพลงที่เกิดขึ้นใหม่จึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ยุ่งเหยิง หรือไม่มีเวลามากพอที่จะมานั่งฟังเพลงใหม่ ๆ ได้ ซึ่งเรามักเทียบกับประสบการณ์ของช่วงชีวิตที่ผ่านมาของเรา แน่นอนว่ามันอาจจะไม่เหมือนที่เคยฟังมา แต่จริงหรือที่มันไม่เหมือนกัน

บทเพลงสมัยนิยมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 จวบจนถึงปัจจุบันเรียกได้ว่ามีโครงสร้างหรือแก่นแกนที่แทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือทุกบทเพลงต้องประกอบไปด้วยท่อนที่มีความแตกต่างกัน เช่น ท่อนสำคัญสามารถจดจำได้หรือเรียกว่า hook และในขณะเดียวกันบทเพลงทุกเพลงจะต้องมีท่อนที่สามารถปูเรื่องเล่าหรือที่มาที่ไปได้ที่เรียกว่า verse ซึ่งยังคงเป็นกลไกหลักจวบจนถึงปัจจุบัน ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะไม่ใช่โครงสร้างหรือแก่นของเพลง แต่กลับเป็นวิธีการเล่าเรื่องผ่านเนื้อหาที่ใช้กลเม็ดการเล่าเรื่องแตกต่างกันกับบทเพลงในอดีต อีกทั้งรูปพรรณเสียง (timbre) ที่รับรู้ได้จากเสียงเครื่องดนตรีและลีลาของมันอาจจะทำให้ชวนนึกว่านี่มันเพลงอะไรกัน ทั้งที่มันมีส่วนที่คล้ายกันแต่ทำไมเรายังคงชอบรับฟังเพลงที่คุ้นเคย ในส่วนถัดไปจะเป็นข้อมูลจากเหล่านักประสาทวิทยาที่อาจจะพอคลายสงสัยได้ไม่มากก็น้อย

สมองทำงานอย่างไรเมื่อได้ฟังเพลงที่คุ้นเคย

ทำไมเราถึงมีความสุขเหลือเกินเมื่อได้ฟังเพลงเดิม ๆ เมื่ออ้างถึงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์จากการศึกษาของนักประสาทวิทยาอย่างดาเนียล เลวีติน2 ทำการศึกษาระหว่างฟังเพลงด้วยวิธีการการสแกนภาพในสมองแบบละเอียด (fMRI) พบว่า เมื่อเสียงเพลงที่เราคุ้นชินดังขึ้น โครงสร้างสมอง (subcortical structure) ที่ประกอบไปด้วยก้านสมอง ประสาทหูชั้นใน (cochlear nuclei) สมองน้อย (cerebellum) ตอบสนองต่อการรับรู้เสียงที่เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับการได้ยิน (auditory cortex) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นบทเพลงที่เคยได้ยินมาก่อนสมองในส่วนใกล้กลาง (medial temporal lobe) หรือที่รู้จักในนาม ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีส่วนในการสร้างความทรงจำระยะยาวจะทำงานเพื่อตอบสนองความทรงจำร่วมกับสมองใหญ่ส่วนหน้า (frontal lobe)

ยิ่งปรบมือเคาะจังหวะตามบทเพลงที่ได้ยินก็จะพบว่าสมองน้อยนั้นเริ่มทำงาน มากไปกว่านั้นหากร้องเพลง เล่นดนตรี หรือ ควบคุมวงดนตรี สมองใหญ่ส่วนหน้าจะตอบสนองการวางแผน และกลไกของผัสสะที่เกี่ยวข้องจะเริ่มทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอารมณ์ร่วมกับบทเพลงที่ฟัง มันจะกระตุ้นให้สมองที่มีลักษณะคล้ายเม็ดอัลมอนด์ (amygdala) ที่ทำหน้าที่ในส่วนระบบความทรงจำและการตอบสนองโดยความรู้สึกจะเริ่มทำงาน และก่อให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขเมื่อได้รับข้อมูลและให้ความสงบที่มีชื่อว่า โดพามีน (dopamine) และเซโรโทนิน (serotonin)

ดังที่หลายคนเคยเข้าใจว่าสารโดพามีน มักหลั่งออกมาเมื่อได้รับความพึงพอใจจากการได้รับรางวัลตอบแทนแบบปฐมภูมิ (primary reward) ที่สัมพันธ์กับการตอบสนองต่อความอยู่รอดของชีวิต เช่น การกินและการมีเพศสัมพันธ์ แต่ในงานศึกษาเรื่องการหลั่งสารโดพามีนจากการปรับเปลี่ยนประสบการณ์การได้รับด้วยเสียงดนตรี3 เป็นอีกมุมมองที่สะท้อนให้เห็นความพึงพอใจแบบนามธรรมที่บางครั้งซับซ้อนและย้อนแย้ง เพราะเมื่อเราฟังดนตรี หลายครั้งเราต้องเป็นผู้ให้แทนที่จะเป็นผู้รับ อย่างการใช้เงินไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อซื้อเสียงเหล่านั้นมาฟังให้ได้ เป็นลักษณะของการตอบสนองความพึงพอใจที่ร่างกายให้รางวัลแบบนามธรรม (abstract rewards) ที่เป็นความพึงพอใจทางอารมณ์ โดยมีแรงจูงใจที่แตกต่างออกไปจากคำอธิบายแบบการรับรางวัลตอบแทนแบบปฐมภูมิที่ได้รับสิ่งกระตุ้นอย่างเป็นรูปธรรม

จึงไม่แปลกที่ทำไมเราถึงมีความสุขเหลือเกินเมื่อได้รับฟังบทเพลงที่คุ้นเคย เพราะมันสามารถตอบสนองได้ทั้งทางวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ ที่ในแง่หนึ่งคือเพลงเก่า ๆ ที่เราคุ้นเคยนั้น เปรียบเสมือนทุนทางวัฒนธรรมที่เรือนร่างของเราเคยเข้าไปปะทะและผ่านมันมาจนกลายเป็นประสบการณ์ที่แฝงฝังอยู่ในร่างกายและความทรงจำของเรา  จนทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจมากกว่าเสียงที่ได้ยินใหม่จากบทเพลงปัจจุบัน ในขณะที่คำตอบทางวิทยาศาสตร์อธิบายผ่านระบบการทำงานของสมองอย่างชัดเจน เมื่อได้รับฟังบทเพลงที่คุ้นเคยจะทำให้ร่างกายกระตุ้นการหลั่งสารความสุขอย่างโดพามีนออกมา เพื่อตอบสนองความพึงพอใจที่มีด้านอารมณ์ แรงจูงใจ หรือความสุข ที่ทำให้เราต่างรู้สึกดีเมื่อได้ยินมันอีกครั้ง

โดย อาจารย์กุลธีร์ บรรจุแก้ว (อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีสร้างสรรค์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา)
เผยแพร่เมื่อ 25 ตุลาคม 2566

รายการอ้างอิง

  1. Bourdieu, P. (1984) Distinction: A Social Critique of the Judgment of Taste. Routledge & Kegan Paul, London.
  2. Levitin, D. J. (2006). This is your brain on music: The science of a human obsession. New York, Penguin Books Ltd.
  3. Ferreri, L., Mas-Herrero, E., Zatorre, R. J., Ripollés, P., Gomez-Andres, A., Alicart, H., … & Rodriguez-Fornells, A. (2019). Dopamine modulates the reward experiences elicited by music. Proceedings of the National Academy of Sciences, 116(9), 3793-3798.
Scroll to Top